กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--กรมสุขภาพจิต
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวย้ำว่า ในช่วงเวลานี้ ขอให้ระมัดระวังในเรื่องของการมีความเห็นต่าง การส่งต่อความโกรธ การใช้อารมณ์และโทษผู้อื่นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติได้ ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า ความโศกเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละบุคคลจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์เนื่องจากความสูญเสียแตกต่างกัน ทั้งนี้ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น บุคลิกภาพ ความสามารถในการจัดการกับปัญหา ประสบการณ์ในอดีต และความเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น บางคนอาจใช้เวลาทำใจไม่นาน หรือบางคนอาจทำใจไม่ได้เลย ดังนั้น การจะใส่เสื้อดำหรือเสื้อสี จะร้องไห้หรือไม่ร้องไห้ จะโพสต์ถวายความอาลัยหรือไม่โพสต์ จึงไม่ใช่เครื่องตัดสินว่า คนที่กระทำไม่เหมือนตนเป็นคนไม่ดี ไม่รักพระองค์ จึงขออย่าด่วนสรุป ด่าทอ ต่อว่า หรือตัดสินลงโทษใครจากสิ่งที่เห็นเพียงภายนอก เพียงด้วยเรื่อง "การแสดงออกที่ต่างกัน" ซึ่งบางเหตุการณ์ก็ควรให้ดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วง คือ การแปลงความรักหรือความโศกเศร้าของสาธารณะไปสู่ความรู้สึกโกรธ ก้าวร้าว จนขาดความยั้งคิด เกิดความหุนหันพลันแล่น ทำร้ายตนเองและผู้อื่น เนื่องจากขาดการจัดการความเศร้าที่ดี สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ ดึงสติกลับมา รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านให้มาก รวมพลังความรักสามัคคี สืบสานพระราชปณิธาน สังเกตและจัดการกับอารมณ์ของตนเอง หากพบคนเห็นต่าง สร้างความไม่พอใจ ให้ลองเงียบ ไม่ตอบโต้ พยายามลดการปะทะ และการกระทบกระทั่งให้มากที่สุด ตลอดจน ลองเปลี่ยนความโกรธ ให้เป็นพลังบวก ทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ ให้กับสังคม เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสุข เสริมพลังใจให้กับตนเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญ ต้องช่วยกันหยุดยั้งและห้ามปราม ไม่เพิกเฉยต่อการผลิตซ้ำเหตุกระตุ้นความเศร้า เช่น การพูดยุยง ปลุกปั่น การแบ่งแยกคนที่เห็นต่างว่าผิด หรือการสร้างเหตุอื่นใดไม่ว่าจะด้วยคำพูด ข้อความ หรือภาพที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงโดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการลงทัณฑ์ทางสังคมกันเอง เป็นต้น โดยเฉพาะ เวลาเสพสื่อโซเชี่ยล ก็ขออย่าเพิ่งคล้อยตาม หรือจับผิดผู้อื่น หยุดคิดสักนิด ใช้สติก่อนแชร์ เพราะอาจกลายเป็นผู้ผลิตเหตุกระตุ้นความเศร้านำไปสู่ความรุนแรง ซ้ำเติมความทุกข์ของพี่น้องคนไทยให้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว และหากรู้สึกเศร้า หรือ เริ่มพบว่ามีผลกระทบด้านลบต่อจิตใจตนเอง ก็ควรลดการใช้สื่อโซเชี่ยลลงบ้าง ทั้งนี้ หากตนเองและคนรอบข้างยังคงโศกเศร้าเสียใจมาก ไม่มีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ ไม่สามารถทำอะไรได้ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดวนเวียน ความคิดความจำไม่ดี เริ่มติดเหล้า หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไปอย่างมาก ให้รีบขอความช่วยเหลือ จากหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตและสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ หรือปรึกษาเบื้องต้นได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว