กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--กรมสุขภาพจิต
วันนี้ (21 ต.ค.59) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมเปิดศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้บริการเต็มรูปแบบกับเด็กพัฒนาการล่าช้าเป็นแห่งแรกของประเทศ ณ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2555 ทั่วประเทศ มีผู้พิการ 1.5 ล้านคน โดยเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรม 1.4 ล้านคน การมอบอุปกรณ์ช่วยเหลือ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กพิการและผู้พิการสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง เกิดความภาคภูมิใจ มีพลังสุขภาพดีทั้งกายและใจ ใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมต่อไป โดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์และมูลนิธิ ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนรถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานฯ มาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 16 ปี ได้รับบริจาคอุปกรณ์ เช่น รถเข็น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน วอล์คเกอร์ เก้าอี้สุขภัณฑ์ เก้าอี้อาบน้ำ รถช่วยเดินสำหรับเด็ก ที่ส่งมาจากต่างประเทศทั้งหมด 62 ครั้ง มูลค่า 171 ล้านบาท เด็กและคนพิการได้รับมอบอุปกรณ์ไปแล้วทั้งสิ้น 23,200 ราย และในครั้งนี้ ได้ร่วมกับองค์กร Joni and Friends (Wheels for the World) ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย กองพันพัฒนาที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม สโมสรโรตารี และ ICC International Co, Ltd. จัดพิธีมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานฯ ให้แก่ผู้พิการตามโครงการ จัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ ในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลกและ จ.อุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค. 2559 จำนวน 262 ราย
นอกจากนี้ ยังได้เปิดศูนย์การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบำบัดฟื้นฟูเด็กพัฒนาการล่าช้าของประเทศไทย ด้วยบริการเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย ผู้ปกครองสามารถเรียนรู้และนำไปดูแลบุตรหลานได้ด้วยตนเอง เปิดให้บริการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558 เป็นต้นมา เช่น การนวดแบบราชสำนัก การประคบ และการใช้ยาสมุนไพร เพื่อการกระตุ้นการรับรู้ของสมอง ให้บริการแล้วทั้งสิ้น 2,086 ราย เป็นเด็กมีปัญหาพัฒนาการ 1,169 ราย บุคคลทั่วไป 688 ราย ผลที่ได้ คือ เด็ก มีความสงบขึ้น ควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ตลอดจน เด็ก ร้อยละ 77 มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อลดลงหลังการนวด และ ร้อยละ 68 มีกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว