กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้อมนำแนวพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ดินโคลนถล่มอย่างยั่งยืน และหลักการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาเป็นต้นแบบในการวางระบบการจัดการสาธารณภัยตามหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" พร้อมปรับใช้และขยายผลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ รวมถึงพัฒนากลไกการจัดการสาธารณภัยให้เป็นระบบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสาธารณภัยของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ประเทศไทยประสบสาธารณภัยบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรชาวไทย จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ดังนี้ การจัดการปัญหาภัยแล้ง ทรงพระราชทานโครงการฝนหลวง โดยผสมผสานหลักธรรมชาติและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน และบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึงทรงมีแนวพระราชดำริด้านการชลประทาน ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ เขื่อน เพื่อให้มีพื้นที่ในการเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น และผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ตามคลองหรือคูส่งน้ำ ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งน้ำ อาทิ การขุดลอกคลอง หนอง บึง การขุด สระเก็บน้ำในไร่นา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายน้ำและเก็บกักน้ำ การจัดการปัญหาอุทกภัย ทรงศึกษาข้อมูลสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศและมีพระราชดำริเลือกใช้วิธีแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ครอบคลุมทั้งการป้องกันปัญหาอุทกภัยระยะสั้น อาทิ การสร้างคันดินกั้นน้ำ ป้องกันน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ริมน้ำ การสร้างทางผันน้ำ โดยขุดลอกคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ การปรับปรุงลำน้ำ โดยขุดลอกลำน้ำที่ตื้นเขิน กำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงปรับแต่งลำน้ำที่คดโค้งให้เป็นลำน้ำสายตรง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ ส่วนในระยะยาว ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ใช้มาตรการเชิงโครงสร้าง ด้วยการสร้างเขื่อนเหนือพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ ป้องกันน้ำไหลหลากท่วมพื้นที่ราบลุ่มในช่วงฤดูฝน รวมถึงโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถรองรับน้ำหลาก เพื่อหน่วงน้ำ ก่อนระบายออกสู่ทะเล สำหรับการป้องกันอุทกภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อป้องกันมิให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ รวมถึงเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล การจัดการปัญหาดินโคลนถล่ม ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ชะลอการไหลของน้ำ และการเลื่อนไหลของหน้าดิน จึงช่วยลดความรุนแรงของดินโคลนถล่ม การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทรงพระราชทานทุนในการก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นหน่วยงานในการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย อีกทั้งทรงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งนี้ แนวพระราชดำริข้างต้นถือเป็นรากฐานสำคัญในการวางมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชิงรุก ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน มาเป็นต้นแบบในการวางระบบการจัดการสาธารณภัยตามหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" พร้อมปรับใช้และขยายผลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ รวมถึงพัฒนากลไกการจัดการสาธารณภัยให้เป็นระบบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสาธารณภัยของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน