กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชัน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 3nd International Science, Mathematics and Technology Education Conference (ISMTEC2016) ในหัวข้อ STEM Education: Preparing a Workforce for the Future โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานมีการบรรยายพิเศษจากนักการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น นิทรรศการ การนำเสนอผลงานและการประชุมปฏิบัติการด้านสะเต็มศึกษา และมีสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ International Technology and Engineering Educators Association (ITEEA) และสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานเปิดงาน ISMTEC2016 กล่าวว่า ในการพัฒนาประเทศ คนไทยจะต้องมีความเข้าใจวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นฐานความรู้สำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน สร้างสังคมให้มีเหตุผล มีการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา และมีการใช้ความรู้ต่อยอดไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะเต็มศึกษาเป็นกระบวนการที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะของเด็กไทยในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา สร้างประโยชน์ในการทำงานและในชีวิต ส่งผลดีต่อการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีคุณภาพสูงเป็นกำลังสำคัญการพัฒนาประเทศระยะยาว
"ประเทศไทยต้องการกำลังคนด้านสะเต็มจำนวนมาก ตามนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกำลังคนด้าน STEM จำเป็นต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่ง World Economic Forum (WEF) ได้ให้นิยามไว้ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ ทักษะในการดำรงชีวิต อาทิ การอ่านเขียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ICT ฯลฯ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม และบุคลิกภาพแบบใหม่ เช่น การมีจิตอาสา ความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้ริเริ่ม"
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า สะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education:STEM Education) คือแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ สอดคล้องกับภารกิจของ สสวท. ในเรื่องของการพัฒนากำลังคนและสร้างเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจการเรียนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษาในระดับนานาชาติ ระหว่างครู บุคลากรทางการศึกษาตลอดจนประชาชนทั่วไป
"การผลักดันสะเต็มศึกษาเพื่อเตรียมกำลังคนในอนาคต ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่มีการแข่งขันสูง จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษา การพัฒนาครูและบุคลากรสะเต็ม และการส่งเสริมให้ทูตสะเต็ม เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจต่ออาชีพด้านสะเต็ม และการปรับเปลี่ยนการประเมินในโรงเรียน และระดับชาติ ให้สอดคล้องกับสะเต็มศึกษา โดยมุ่งเน้นการประเมินความรู้ ควบคู่ไปกับทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาระบบการประเมินให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาในชีวิตจริง"