กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สถาบันไทย-เยอรมัน ขานรับนโยบายรัฐเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 ร่วมผลักดันส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกางแผนพัฒนาเทคโนโลยีและหลักสูตรเฉพาะด้านเพื่อเติมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี 4.0 หวังปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่ภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์แก่อุตสาหกรรม New S-Curve
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปีข้างหน้าด้วย 3 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา การปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก ผ่านรูปแบบการดำเนินงานด้วยการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพ มาตรฐานการผลิตและสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้สถาบันไทย-เยอรมัน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีแม่พิมพ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและช่วยทรานฟอร์เมชั่นไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve โดยเฉพาะกลุ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Robotic) และระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วนทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน เป็นต้น
นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า สถาบันฯ พร้อมรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการทรานฟอร์เมชั่นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยเข้าไปช่วยเร่งรัดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์หุ่นยนต์ เพื่อร่วมผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมของไทยในทุกด้าน ทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ผลิตผ่านมาตรการจูงใจในการลดภาษีให้แก่ผู้ประกอบการจากภาครัฐ พร้อมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน
ขณะเดียวกัน สถาบันจะเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกระดับรองรับ ผ่านกระบวนการฝึกอบรมให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและดิจิทัลให้แก่บุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพรวมถึงให้คำปรึกษา และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตของไทย ที่สามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สถาบันฯ จะร่วมกับสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษา ในการปรับเปลียนเทคโนโลยีให้หันมาใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว จากปัจจุบันที่มีการฝึกอบรมมากกว่า 100 หลักสูตร ผ่านศูนย์เทคโนโลยีของสถาบัน ที่ประกอบไปด้วย ศูนย์เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ ศูนย์แม่พิมพ์และเครื่องมือกล ศูนย์บำรุงรักษาและการจัดการอุตสาหกรรม เช่น หลักสูตรด้านการออกแบบ การสร้างและการซ่อมบำรุง ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ผ่านการอบรมจากสถาบันฯ รวมทุกหลักสูตรกว่า 3,000 รายที่กระจายอยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆทั่วประเทศ
"เราจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรเพื่อตอบสนองผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการผลิตชิ้นส่วน เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมและระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นและพร้อมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะช่วยผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ในที่สุด" นายสมหวัง กล่าว