กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--สวทช.
ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแสดงความยินดีและปฐมนิเทศแก่น้องๆ ฑูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 23 คนจากทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศอาเซียนหรือ JENESYS 2016 จำนวน 9 วัน ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2559 ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น พร้อมเสริมสร้างประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนายชิโร่ เทราชิมา (Mr. Shiro Terashima) เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดี
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า "สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดำเนินการคัดเลือกเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการ JENESYS 2016 ในหัวข้อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (1st Batch : Science and Technology Program) ระหว่างวันที่ 1 - 8 พฤศจิกายน 2559 ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสิ้นจำนวน 23 คนจากทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด โครงการนี้เยาวชนจะได้ไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของญี่ปุ่นด้วยการพักอาศัยกับชาวญี่ปุ่นแบบโฮมสเตย์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างไทย ญี่ปุ่น และกลุ่มอาเซียน ตลอดจนได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำด้วย"
นายชิโร่ เทราชิมา (Mr. Shiro Terashima) เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "โครงการ JENESYS หรือ Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths ในปี 2016 ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประสงค์จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศสมาชิกอาเซียน และกลุ่มโอเชียเนีย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเยาวชนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเข้าร่วมกว่า 1,670 คน ร่วมกับเยาวชนญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างความเข้าใจในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นในภาพกว้างขึ้น โดยโครงการนี้จะเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี พาไปเยี่ยมชมความน่าทึ่งของนวัตกรรมต่างๆ ในญี่ปุ่น พร้อมสอดแทรกความคิดว่าทำไมถึงคิดเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา และคิดขึ้นมาได้อย่างไร พร้อมร่วมพูดคุยถกปัญหากับครอบครัวชาวญี่ปุ่นและนักเรียนญี่ปุ่นที่ได้ร่วมกิจกรรมด้วยกัน ภายหลังกลับมาประเทศไทย อยากให้เยาวชนได้นำประสบกาณ์ความรู้ไปเผยแพร่ต่อยังโรงเรียนและคนใกล้เคียงต่อไป พร้อมต่อยอดความคิดในเรื่องอนาคตว่าอยากจะประกอบอาชีพอะไร อาจคิดเรื่องไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นก็ได้ ซึ่งทางสถานฑูตเองมีการสนับสนุนในเรื่องทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว"
"สำหรับกิจกรรมในโครงการ JENESYS 2016 เยาวชนไทยจะได้ทัศนศึกษาที่กรุงโตเกียว โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อรับฟังบรรยายในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์โตเกียวเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศ หุ่นยนต์ และนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของญี่ปุ่น พร้อมชมนิทรรศการนักโนเบลญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ จากนั้นจะเดินทางไปสัมผัสวัฒนธรรมที่เมืองโยโกสึกะ จังหวัดคานางาวะ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกับเยาวชนระดับมัธยมของญี่ปุ่น และค้างพักแรมแบบโฮมสเตย์ 2 คืนกับครอบครัวชาวญี่ปุ่น จบท้ายด้วยการสัมผัสและชมเทคโนโลยี Cutting-Edge Technology อันตระการตาของญี่ปุ่น คือ อุโมงค์ใต้ทะเล หรือที่เรียกว่า ยูมิโฮทารุ (Umihotaru) สะพานอุโมงค์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับอุโมงค์ทางน้ำ เสมือนเกาะเทียมนั่นเอง นับเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทย และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในโอกาสที่ปีหน้า พ.ศ. 2560 จะครบรอบ 130 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและญี่ปุ่น ทางโครงการ JENESYS ในปี 2017 จะดำเนินให้การสนับสนุนเยาวชนไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งอาจเพิ่มเติมกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในโอกาสพิเศษดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน" นายชิโร่ เทราชิมา กล่าว