กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669
เครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินน้อมใจ สืบสานพระราชปณิธาน "การแพทย์ฉุกเฉิน" เพื่อคนไทย รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 ให้ได้รับการรักษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียม
"ยาดม มั้ยครับยาดม มีใครจะเป็นลมมั้ยครับ เอาแอมโมเนียไปได้นะครับ ใครรู้สึกจะเป็นลม หรือไม่ไหวรีบแจ้งพวกเราได้ทันทีเลยนะครับ" นี่คือเสียงของ นาวิล คงดี หนึ่งในผู้บริหารของสมาคมอยุธยารวมใจหน่วยกู้ภัยอยุธยา 7 ที่ตะโกนบอกประชาชนที่เดินทางมาร่วมถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่บริเวณท้องสนามหลวง นาวิล และเจ้าหน้าที่จากสมาคมอยุธยารวมใจหน่วยกู้ภัยอยุธยา 7 กว่า 20 ชีวิต เป็นหนึ่งในทีมประสานและสนับสนุนทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและเครือข่ายเตรียมการเอาไว้ เพื่อคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดินทางเข้าร่วมถวายอาลัยสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยมีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินจากหลากหลายมูลนิธิหลากหลายองค์กรในการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ อาทิ มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู สมาคมอยุธยารวมใจ มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ ชลบุรี มูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร เครือข่ายอาสาวชิรพยาบาล มูลนิธิสยามนนทบุรี มูลนิธิฮุก 31 นครราชสีมา และอีกหลายมูลนิธิที่ทยอยติดต่อเข้ามา โดยทุกเครือข่ายพร้อมลงปฏิบัติหน้าที่ในการประสานและสนับสนุนทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเต็มที่ทั้งทางบกและทางน้ำ พร้อมร่วมกับหน่วยแพทย์อื่น ๆ ที่ต่างเตรียมพร้อมรอบบริเวณงาน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประชาชนของพระองค์ไว้ว่า "ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง" ด้วยกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว พวกเราทุกคนทุกหน่วยงานจึงขอสานต่อพระราชปณิธานในการดูแลประชาชนของพระองค์ให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีในทุกๆ กรณีไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการเจ็บป่วยในสภาวะปรกติ โดยทีมประสานและสนับสนุนทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่เครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินได้ร่วมมือร่วมใจเข้ามาครั้งนี้ จะคอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกคนที่เดินทางเข้าร่วมร่วมถวายอาลัยฯ อย่างเต็มที่ ซึ่ง สพฉ. ได้นำรถสื่อสารและประสานงานเข้าไปประจำที่บริเวณท้องสนามหลวง และจัดแบ่งเครือข่ายมูลนิธิที่เข้าร่วมกระจายออกหลายจุด เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้เรายังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครพร้อมชุดปฐมพยาบาลเดินเท้าเข้าสำรวจว่ามีใครที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและต้องการการช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลในเบื้องต้นหรือไม่ การทำงานของพวกเราในครั้งนี้เพื่อถวายแด่พ่อหลวงของพวกเราด้วยใจที่เต็มร้อย" เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
ทั้งนี้นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นประมุขแห่งประเทศไทย พระองค์ทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ ทั้งแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รักษาผู้ป่วยไข้ได้ทันที
นอกเหนือจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความสำคัญดังนี้ พ.ศ. 2498 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์แก่บริษัท อู่เรือกรุงเทพ จำกัด เพื่อต่อเรือยนต์ให้สภากาชาดไทย เพื่อใช้เป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางน้ำ พระราชทานนามเรือว่า เวชพาหน์ ออกตรวจรักษาโรคทั่วไปและให้บริการด้านทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองรวมทั้งบรรทุกสิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย อุทกภัย หรือราษฎรที่ยากจน พ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โครงการแพทย์หลวงและหน่วยแพทย์พระราชทาน และโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงและแพทย์ที่ติดตามขบวนเสด็จไปในชนบท ออกตรวจรักษาราษฎรเจ็บป่วยซึ่งมารอรับเสด็จ เมื่อทรงแปรพระราชฐานไปประทับแรมในภาคต่างๆ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อดำเนินงานด้านบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2512 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาคนไข้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2512 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการชาวเขา และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จป่วยเป็นไข้กันมาก โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุข ภาพอนามัยของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีอุปสรรคที่ ระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง
และในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชทานโครงการหมอหมู่บ้าน โดยคัดเลือกราษฎรอาสาสมัครตามหมู่บ้านต่าง ๆ มารับการอบรมหลักสูตร "หมอหมู่บ้าน" เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมนำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน และสามารถติดต่อส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อจำเป็น โดยเริ่มเป็นแห่งแรกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาขยายโครงการออกไปสู่หมู่บ้านที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือโครงการศิลปาชีพ ใน ปี พ.ศ. 2536 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการโครงการพระราชดำริ "ตำรวจจราจรช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน" หรือที่รู้จักกันในนาม"จราจรในพระราชดำริ" โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 18 ล้านบาท ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลนำไปจัดเป็นหน่วยจราจรเคลื่อนที่เร็วเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทุกกรณีในช่วงจราจรติดขัด ตลอดจนนำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือทำคลอดฉุกเฉินจนถึงปัจจุบัน และนี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของพระราชกรณียกิจทางด้าน สุขภาพอนามัย ที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มขึ้น
นาวิล คงดี ผู้บริหารของสมาคมอยุธยารวมใจหน่วยกู้ภัยอยุธยา 7 ได้บอกความรู้สึกของการมาปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับประชาชนและการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในด้านการดูแลสุขภาพและอนามัยของประชาชนว่า "ก่อนหน้านี้เราได้ฝึกฝนลูกข่ายในมูลนิธิของเราให้ทำตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการดูแลและช่วยเหลือประชาชนด้วยจิตอาสาของพวกเรา เราได้อบรมเจ้าหน้าที่ลูกข่ายของเรากว่า 3 พันคน ให้เรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุให้ปลอดภัยได้ ใครที่เขาเจ็บมากเราก็จะบรรเทาเขาให้เจ็บน้อยลง และใครที่กำลังจะเสียชีวิตเราก็จะทำการกู้ชีพเบื้องต้นให้ การที่ได้เข้ามาดูแลประชาชนของพระองค์ในงานถวายความอาลัยให้กับพระองค์ในครั้งนี้เป็นเกียรติยศอันสูงสุดของพวกผมและทีมเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่รู้ว่าชั่วชีวิตนี้จะได้รับเกียรติอันสูงสุดแบบนี้อีกหรือไม่ เราทุกคนในสมาคมอยุธยารวมใจหน่วยกู้ภัยอยุธยาขอสัญญาว่าจะเป็นข้ารองบาทของพระองค์ตลอดไปและจะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการดูแลทุกคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มที่" ผู้บริหารของสมาคมอยุธยารวมใจหน่วยกู้ภัยอยุธยา 7 กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
ขณะที่ เอกพล ลำจวน ตัวแทนจากมูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ชลบุรี หนึ่งในเครือข่ายที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ บอกเล่าความรู้สึกว่า "เรารู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งทีได้ร่วมในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ถึงแม้พวกเราจะเป็นส่วนเล็กๆ แต่เราก็พร้อมที่จะเติมเต็มให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่จะให้บริการกับประชาชนที่เข้าร่วมถวายอาลัยพ่อหลวงของเราสมบูรณ์แบบอย่างเต็มที่ เราจะปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดและจะตั้งใจทำงานกันอย่างสุดกำลัง พวกเราทุกคนไม่มีความเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานในครั้งนี้ เพราะพวกเราทุกคนคำนึงและนึกถึงพ่อหลวงเสมอว่าพ่อหลวงเหนื่อยกว่าเราเยอะมาก เราทำแค่นี้ยังไม่ได้ครึ่งต่อการดำเนินพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เราจะอยู่จนกว่าจะจบภารกิจของพ่อหลวง" เอกพลกล่าว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง ด้วยความมุ่งหวังในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกองค์กรจักขอสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ด้วยการดูแลประชาชนของพระองค์ให้ได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ทั่วถึงและเท่าเทียมตลอดไป ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป