กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--studio mango
ถ้าพูดถึงประตูไปไหนก็ได้ หลายคนคงนึกถึงของวิเศษของโดราเอมอนชิ้นหนึ่ง ที่เพียงแค่นึกถึงสถานที่ ที่ต้องการไปแล้วเปิดประตูก็จะก้าวผ่านประตูไปยังสถานที่นั้นๆ ได้ทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ปัจจุบันของวิเศษชิ้นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องไกลเกินฝันหรือเป็นเรื่องเหลือเชื่ออีกต่อไปแล้ว เพราะเราสามารถจะไปได้ในทุกๆ ที่ ที่เราต้องการได้บนโลกอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาทิ การกลับเข้าไปตรวจดูความเรียบร้อยที่บ้านผ่านระบบ CCTV, การปิดประตูบ้าน / ไฟ / น้ำ / เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลืมทิ้งไว้ผ่านทางออนไลน์, การไปดูคอนเสิร์ตต่างประเทศได้แบบสดๆ ผ่านสตรีมมิ่ง, การนั่งเล่นเกมส์กับเพื่อนที่อยู่ต่างที่ต่างประเทศพร้อมกัน โดยที่สามารถพูดคุยและเห็นหน้ากันได้ หรือแม้แต่ในเรื่องของธุรกิจ เราก็สามารถประชุมกับผู้ร่วมงานหรือสาขาในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้ในเวลาเดียวกัน, เราสามารถไปชอปปิ้งสินค้าได้จากหลากหลายที่ทั่วโลกในเวลาชั่วพริบตา สิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีแล้วในปัจจุบัน และวันนี้เราลองมาดูกันว่าความมหัศจรรย์ เหล่านี้เกิดขึ้นได้ อย่างไรบ้าง
ถ้ามองผิวเผิน เราอาจจะคิดว่าประตูไปไหนก็ได้คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์ Smart Device ต่างๆ อาทิ Smart Phone, Tablet ที่ทำให้เราไปไหนก็ได้และทำหลายๆ สิ่งในต่างที่กันได้ในเวลาเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ประมวลผลและแสดงภาพให้เรา จากคำสั่งร้องขอผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังประตูไปไหนก็ได้ที่แท้จริงแล้ว ก็คือ Internet Gateway ซึ่งมีการเชื่อมต่อเส้นทางที่จะออกไปยังทั่วโลกไว้ทุกเส้นทางแล้ว ทำให้สามารถเปิดให้เข้าไปยังที่ต่างๆ ตามการร้องขอของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และ Smart Device ได้ในทันที ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากประตูวิเศษนี้ได้อย่างมากมายผ่านซอฟท์แวร์/แอปพลิเคชัน เฉพาะด้านต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างหลากหลาย อาทิ เช่น
Smart Home/Smart System :
ในภาพรวมของระบบ จะมีฟังก์ชั่นของการรับข้อมูลจากอุปกรณ์เซนเซอร์ ไปยังตัว Smart Center แล้วส่งต่อไปยังอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องด้วยสื่อสัญญาณไร้สายภายในบริเวณเดียวกัน หรือเชื่อมต่อด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่าน Internet Gateway ไปยังอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องระยะไกล ซึ่งสามารถจะบันทึกความเคลื่อนไหวการทำงานของอุปกรณ์, การวิเคราะห์/ประมวลผล, การแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้าหรือแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุ รวมไปถึงการให้ข้อมูลแนะนำในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างชาญฉลาด
Business Application :
ภาพรวมของแอปพลิเคชันทางธุรกิจที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ก็จะเป็นเรื่องของการประสานงานภายในองค์กรได้แบบเรียลไทม์ทั้งกับสาขา/คู่ค้า ทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันสามารถติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทั้งการรับ-ส่งข้อมูล, การสื่อสารทางเสียงหรือ VoIP, การติดต่อด้วยภาพและเสียงพร้อมๆ กัน อีกส่วนหนึ่งคือการติดต่อกับลูกค้าเพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงและการให้บริการกับลูกค้า ซึ่งแอปพลิเคชันเหล่านี้ จะสามารถเก็บบันทึกข้อมูลการใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตของลูกค้าที่เกิดขึ้นได้ หรือที่เราเคยได้ยินคำ ว่า Big Data นั่นเอง โดยแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์/ประมวลผล และจัดแคมเปญตอบสนองความต้องการของลูกค้าต่อไปได้
Entertainment Application :
แอปพลิเคชันที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ อาทิ ทีวีออนไลน์ และการถ่ายทอดสดบนเว็บไซต์ ซึ่งผู้ให้บริการ Content จะส่งข้อมูล เนื้อหา ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตไปไว้ยังเซิร์ฟเวอร์ โดยผู้เข้าชมไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลกก็สามารถดูผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเดินทางผ่าน Internet Gateway ไปยังเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวได้พร้อมๆ กันจำนวนมาก รวมไปถึงแอปพลิเคชันเกมส์ออนไลน์ต่างๆ ที่สามารถเล่นได้เสมือนผู้เล่นได้เข้าไปอยู่ในเกมส์จริงๆ แม้ในความเป็นจริงผู้เล่นจะอยู่ในคนละสถานที่หรือคนละประเทศก็ตาม
สำหรับผู้ให้บริการ Internet Gateway รายใหญ่ของเมืองไทย ได้แก่ CAT Internet Gateway โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของข้อมูลอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยจะผ่าน CAT Internet Gateway ซึ่ง ได้มีการเชื่อมต่อเส้นทางเครือข่ายไปยังผู้ให้บริการชั้นนำทั่วโลกผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable System) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสัญญาณที่มีประสิทธิสูงสุดในการส่งผ่านข้อมูล ทำให้การติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง/เรียลไทม์ รองรับแอปพลิเคชันต่างๆ ได้อย่างมีเสถียรภาพ