กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบันฑิตย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการดำเนินงาน "โครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด" ใน 10 จังหวัดนำร่องได้แก่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี, ตราด, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ, สุรินทร์, ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี รวม 10 จังหวัด สอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ "ไทยแลนด์ 4.0" เพื่อเตรียมพร้อมด้านแรงงานในเด็กและเยาวชนให้สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ให้แต่ละจังหวัดมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพได้เองในระยะยาว
นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. เปิดเผยว่าโครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัดเป็นความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานคือ สพฐ. สสค. ม.มหิดล ม.ธุรกิจบันฑิตย์ และ สสส. ในการทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการระดับประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปประกอบอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนในอนาคต ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานได้เข้ามาพัฒนาการศึกษาเพื่อการมีสัมมาชีพ
"เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในแต่ละจังหวัดเกิดแผนและมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปในทิศทางเดียวกัน ทำงานกับลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนและเกิดการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีเข้ามาช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ ซึ่งประสบการณ์ของทั้ง 10 จังหวัดจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เครือข่ายในจังหวัดอื่นๆด้วย"
นายพีระ รัตนวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาภาคบังคับ สพฐ. กล่าวว่า โครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด เป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งพัฒนาและเตรียมพร้อมกำลังแรงงานให้สอดรับกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเด็กเยาวชนและแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนสู่การประกอบอาชีพ
"ที่ผ่านมา สพฐ. ได้มีความพยายามออกแบบโปรแกรมการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์และสะท้อนความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มคือ 1) ผู้เรียนที่จบม.3 แล้วเรียนต่ออาชีวศึกษา 2) ผู้เรียนที่จบม.3 แล้วเรียนต่อสายสามัญ และ 3) ผู้เรียนที่จบม.3 แล้วออกไปทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มสุดท้ายที่ที่จะต้องมีทักษะอาชีพจริงๆ และพร้อมออกไปทำงาน ที่ได้รับการช่วยเหลือจาก สสค. ในการทำวิจัยสำรวจตลาดแรงงานในท้องถิ่น และพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมอาชีพ เพื่อให้เด็กเยาวชนมีข้อมูลในการตัดสินใจได้ถูกทิศทาง หากโครงการนี้สามารถค้นหาความต้องการแรงงานในจังหวัด และความต้องการและความถนัดด้านทักษะอาชีพได้ ก็จะทำให้เด็กมีปลายทางที่ดี ปัญญาการจบแล้วทำงานไม่ตรงวุฒิ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในปัจจุบันก็จะหมดไป และยังตอบโจทย์การพัฒนาของจังหวัดไปพร้อมกัน"
"โครงการนี้จะเน้นการสร้างความสนใจและตระหนัก ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจและมีเป้าหมายชีวิต รู้จักการวางแผนชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยการประกอบอาชีพและมีงานทำ โดยสังเคราะห์ออกมาเป็นความถนัดเพื่อการมีอาชีพ เพราะปัจจุบันเรามีเด็กถึงร้อยละ 40 ที่หลุดออกจากจากการศึกษาชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายโดยไม่มีทักษะการทำงาน ทำอย่างไรเราจะทำให้เด็กเหล่านี้อยู่ในสังคมและมีอาชีพได้ โดยกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้จะใช้จุดเด่นที่ สสค. ทำมากับหลายๆ จังหวัดคือการใช้พื้นที่เป็นฐานในการทำงาน เพื่อดูว่ามีความต้องการตลาดแรงงานอย่างไร แล้วนำมาออกแบบให้ตอบโจทย์การพัฒนาและตลาดแรงงานในพื้นที่ โดยทำให้เด็กมีทักษะในการทำงานที่สอดคล้องจบแล้วสามารถทำงานได้" ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสรุป.