กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
จากสภาพเศรษฐกิจของชาวคลองชีล้อมตกต่ำมาก เพราะฐานเศรษฐกิจของชุมชนคือ ทำสวนยางพารากว่า 80 เปอร์เซนต์ เมื่อราคายางตกต่ำ ทำให้ภาวะค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและหนี้สินที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทุกวัน กลายเป็นภาระหนักอึ้ง! ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก จากการที่ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ ระยะที่ 1 : โครงการ "การบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน และการสร้างจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรตำบลคลองชีล้อมแก่คนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน" ตั้งแต่ปี 2556 ต่อเนื่องมาถึงปี 2558-2559 ในระยะที่ 2 : โครงการพัฒนากลไกการจัดการ "สภาชุมชนบริหารจัดการตนเองคลองชีล้อม" โดยผ่าน "สภาชุมชนบริหารจัดการตนเองตำบลคลองชีล้อม" อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ทั้ง 5 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 1- 5) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนในประเด็นการจัดการป่าชายเลน และการจัดพัฒนากลุ่มอาชีพ (ปลูกผักปลอดสารพิษ) ทำให้มองเห็นลู่ทางการแก้ปัญหาปากทองโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง แบบเกษตรพึ่งตน
การทำงานของ"สภาชุมชนบริหารจัดการตนเองตำบลคลองชีล้อม"จึงให้ความสำคัญไปที่ ความต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ระยะสั้นและระยะยาว ดำเนินการควบคู่ 2 ประเด็นคือ การจัดการป่าชายเลนและเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นเกษตรพึ่งตน เน้นการจัดการที่ดิน การคัดเลือกพันธุ์ผักที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและสภาพแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี มีความเป็นไปได้ทางการตลาด และให้ผลระยะยาว และมี โอกาสในการขยายไปสู่การจัดการเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการรวมกลุ่ม การเพาะขยายพันธุ์เพื่อขายต้นอ่อน การทำพืชสมุนไพร ที่มีฐานทุนอยู่แล้ว ต่อยอดให้ดีกว่าเดิม แนวการทำงานนี้ได้รับความสนใจจากสมาชิกทั้ง 5 หมู่บ้าน ตรงกับความต้องการ เห็นเป็นรูปธรรม ขยายผลไปสู่การจัดการด้านอื่น และได้คัดเลือกอาสาสมัครตัวแทนทั้ง 5 หมู่บ้าน หลายสถานะ หลายบทบาท ทั้งด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน และด้านเกษตรพึ่งตน ขึ้นมาเป็นทีมกลไกกลางเพื่อการบริหารจัดการผ่านกลไกกลางที่ชุมชนร่วมกันตั้งชื่อว่า "สภาชุมชนบริหารจัดการตนเองตำบลคลองชีล้อม" มีสมาชิก 62 คน และหวังจะขยายเครือข่ายให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก
จากโครงการระยะแรก พบว่าป่าชายเลนผืนเดียวของชุมชน ที่มีพื้นที่กว่า 5 พันไร่ ถูกเพิกเฉยจากชาวบ้านละทิ้งที่ทำกินเดิมต่างหันไปปลูกยางพารา พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ราคาดีกว่า แต่เมื่อราคายางเริ่มดิ่งลงเรื่อยๆ ชาวบ้านเริ่มหันกลับมามองหาทรัพยากรดั้งเดิมแต่กลับพบว่าป่าชายเลนที่ตนเองไม่ใยดี ถูกคนภายนอกมาลักลอบขุดเพรียง (เป็นสัตว์ประเภทหอยสองฝาที่เจาะไชไม้ และอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ บริเวณป่าชายเลน) มีคนนอกมาปล่อยน้ำเสียจากนากุ้ง การทำอาชีพประมงแบบทำลายล้าง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ป่าชายเลนเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวคลองชีล้อมเริ่มหันมามองและร่วมใจกันดูแลผืนป่าโดยปลุกจิตสำนึกชุมชน สร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากร ช่วยกันดูแลให้ฟื้นกลับมาสมบูรณ์ดั้งเดิม เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและอาชีพของคนในชุมชน ทั้งอาชีพหาปูดำที่สร้างรายได้ได้ดี เกิดผลร่วมกันสร้างกฏกติกาในการดูแลทรัพยากรทำให้ผืนป่าค่อยๆ ฟื้นฟูกลับมา ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ผ่านการทำมาหากิน
แต่ประเด็นเกษตรพึ่งตนเองยังคงมีอยู่ นายศรี แก้วลาย ผู้นำชุมชนและแกนนำ หมู่ที่ 4 หนึ่งในสมาชิกสภาชุมชนบริหารจัดการตนเองคลองชีล้อม ที่ร่วมขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้น เล่าให้ฟังว่า "ตอนแรกเรามองว่าพื้นที่คลองชีล้อมเป็นที่ราบสูง เหมาะสำหรับทำการเกษตร แต่คนตำบลเราไปยึดติดกับการปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก เพราะปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแล้ว แต่พอเรามาทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้วเราถูกมองว่ามันเป็นของเด็กๆ มันยังไม่เห็นผล ก็เลยโดนมองว่าพวกนี้(กลุ่มแกนนำ) เขาทำเป็นของเล่นๆ แต่เราคิดว่าในอนาคตเราจะทำตำบลคลองชีล้อมให้เป็นแหล่งผักปลอดสาร ที่จะไปหล่อเลี้ยงคนในตำบลและในอำเภอทั้งหมดให้ได้ ตอนนี้เราวางแผนอนาคตไปถึงตรงนั้น
...ที่เรามาทำตรงนี้ เพราะเห็นว่าพอยางราคาตก เราก็อยู่ไม่ได้แล้ว ในส่วนยางเราเอง ก็มีพื้นที่ว่างเยอะอยู่ และพื้นที่คลองชีล้อมเป็นพื้นที่สวนยาง ปลูกผักได้ดี เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ผักเหลียง ผักกาดขาไก่ จึงคิดว่าวันนี้เราปลูกไว้กินก่อน ต่อไปก็จะปลูกเป็นผักเศรษฐกิจได้ อย่างผักเหลียงตอนนี้ ปลูกได้ไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค และยังขายได้ราคาสูง กก.ละ 100 บาท ที่เราทำตอนนี้ คือเน้นให้กลุ่มเห็นวิธีการ ขั้นตอน การทำเกษตรที่ถูกต้องก่อน ทั้งการเรียนรู้เรื่องการปลูกผักเหลียง การทำปุ๋ยหมัก เราวางไว้ว่ากลุ่มเราจะปลูกผักปลอดภัย เป็นความคิดของทางออกของอาชีพ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะมีรายได้เสริมเข้ามาในครอบครัว การมารวมกลุ่มกัน ทำให้ได้ความรู้ของแต่ละพื้นที่ ของแต่ละบุคคล ความถนัดตั้งแต่วิธีการปลูก การคัดเลือกพันธุ์ การบำรุงรักษา และคุณภาพดิน กลุ่มเราจะส่งเสริมอาชีพที่เหมาะกับเขา เราแบ่งเป็นกลุ่มผัก กลุ่มปศุสัตว์ และกลุ่มปลูกไม้ยืนต้น เราสนับสนุนเป็ดเนื้อ เป็ดไข ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไปหนุนเรื่องอาชีพและการขาย เรามาจัดการวางแผนร่วมกันว่าเราจะทำให้เกิดตลาดชุมชน เป็นจุดรับและส่งวัตถุดิบในตำบล
นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมเยี่ยมบ้านเพื่อน เวียนกันไปทั้ง 5 หมู่บ้าน เราไปเยี่ยมบ้าน จะได้เห็นว่าเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง ปลูกอะไรอยู่บ้าง ถ้ายังไม่ปลูกก็ส่งเสริมให้ปลูก เช่น พืชผักสวนครัว และมีการไปอบรมเรื่องการทำปุ๋ยหมัก จากกระบวนการทำงานรวมกันในกลุ่ม ทำให้คนคลองชีล้อมมีความเป็นเพื่อนและมีความใกล้ชิดผูกพันกันมากขึ้น รู้จักลูกหลานช่วยกันดูแลลูกหลานซึ่งกันและกันด้วย ..ผมคิดว่าสักวันหนึ่ง มันจะยั่งยืนครับ ที่บอกว่ายั่งยืนเพราะคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่คิดว่าเราเพิ่มรายได้ แต่เราลดรายจ่ายในครัวเรือนลง จากการปลูกพืชผักสวนครัว..."
ทางด้านแมว - สุพรชัย หมุเวียน แกนนำหมู่ 1 ผู้ร่วมก่อการบอกว่า แต่ก่อนจะกินผักต้องออกไปซื้อ ตอนนี้ผักที่ปลูกเริ่มทำให้มีรายได้"กลุ่มเราเริ่มทำให้เห็นก่อน ถ้าเราทำได้ดี ชาวบ้านเขาก็อยากทำตาม ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลง" และมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มแม่บ้านที่เข้าร่วมบอกว่าปลูกผักดีมาก ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก และพอเหลือก็ได้แบ่งปันกัน นอกจากนี้ ชาวคลองชีล้อม ยังได้พาเราเยี่ยมบ้านสมาชิก อาทิ บ้านนายก่อเส็ม หนุนกิ่ง หมู่ 2 ก็ตัดสวนยางบางส่วนเพื่อนำมาปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงไก่ ก็ทำให้พออยู่พอกินกันในครัวเรือน , ครอบครัวมณฑา ทองรอด ที่ปลูกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ฯลฯ แซมไปกับต้นยาง ทำให้ไม่ต้องซื้อข้าว ได้กินข้าวคุณภาพ ผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัย แถมเหลือยังขายได้อีกด้วย ,บ้านสิทธพอช วังเมือง ที่มีภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน ปลูกสมุนไพรรอบบ้านและทำขายเป็นอาชีพได้ บ้านของนายเที่ยง ไฝขาว ที่ตัดยางทิ้งปลูกป่ามาไม่ต่ำกว่า 20 ปี กลายเป็นป่าชุมชน นอกจากนี้ยังมีนางหลี ไชยฤทธิ์ นายสมจิต สองเมือง น.ส.วิมล ร่อยี่ซี่ ฯลฯ นี่คือตัวอย่างของกลุ่มสมาชิกที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิม พร้อมแบ่งปันกับคนคลองชีล้อม ให้เปลี่ยนวิธีคิดจากพึ่งพาสวนยางเพียงอย่างเดียว ให้หันมาใช้เกษตรแบบผสมผสานเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว สำหรับโครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ" โดยความร่วมมือของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
วันนี้ คนคลองชีล้อม อาจจะไม่สามารถหยั่งรู้ถึงอนาคตได้ว่า สักวันหนึ่งพวกเขาจะได้เป็น "คลังอาหารปลอดภัย" ให้กับคนทั้งจังหวัดตรังตามที่วาดหวังไว้ หรือไม่. แต่วันนี้พวกเขาก็พร้อมสู้และพิสูจน์ด้วยต้นเหลียงที่กำลังเติบโตรอวันเก็บเกี่ยวแล้วนั่นเอง.