กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
"จากส้มซ่าทีมีอยู่เพียงต้นเดียวในหมู่บ้าน แล้วขยายผลมาจนถึงทุกวันนี้ นับได้ว่ามีความสามารถสูงมาก และเป็นการดำเนินงานตามแนวทางของในหลวง"
"ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับมอบปลานิลจากราชวงศ์ญี่ปุ่นจำนวน 50 ตัว ภายหลังเหลือเพียง 10 ตัว พระองค์ทรงดูแล ทนุถนอมและขยายพันธุ์ กระทั่งปัจจุบันคนไทยได้กินปลานิลกันทั่วประเทศ"
คำให้สัมภาษณ์ของนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ในขณะเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า หมู่1 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางณัฏฐิยาภรณ์ ศรีสุบรรณ์ พัฒนาการจังหวัดพิษณุโลก และคณะกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่าจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 เนื่องจากชาวบ้านเกิดความรู้สึกหวงแหนต้นส้มซ่า ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้านที่เหลืออยู่เพียงต้นเดียว จึงได้ร่วมใจกันอนุรักษ์ด้วยการขยายพันธุ์แจกจ่ายทั่วหมู่บ้าน และเพื่อการต่อยอดอย่างยั่งยืนจึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม จากแชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิว ไปจนถึงเจลอาบน้ำ ลิปบาล์ม ลิปกลอส และล่าสุดคือ อโรมาเจลและครีมกันแดด ขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น เช่น กล้วย ข้าว งา มะพร้าว ทับทิม ว่านหางจระเข้ แตงกวา ขมิ้น ใบบัวบก เป็นต้น จนก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่ปลอดจากสารเคมี ธรรมชาติ 100 % โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยนเรศวร, สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองพิษณุโลก, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก, สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก, องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่ให้การดูแล สนับสนุน ทั้งในด้านงบประมาณ การบริหารจัดการ และการจัดสรรองค์ความรู้
จากความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนฯบ้านวังส้มซ่า ได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกขึ้นเมื่อปลายปี 2558 โดยการสร้างอาคารที่มาจากจากผลกำไรของวิสาหกิจฯ เอง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน แหล่งจัดแสดง/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประสานความร่วมมือ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเครือข่าย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจในการดำเนินธุรกิจจากฐานชีวภาพ รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งส้มซ่าสปาเพื่อสุขภาพขึ้นโดยใช้สมุนไพรในชุมชน เน้นคุณภาพและราคาประหยัด มีผู้เชี่ยวชาญอบรมให้แก่คนในชุมชน ปัจจุบันส้มซ่าสปาเพื่อสุขภาพเปิดให้บริการนวดหน้า นวดตัว นวดเท้า และอบตัว โดยฝีมือของคนในชุมชน ทั้งนักศึกษา เกษตรกร คนทำงานที่หันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเข้ามารับบริการอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกทางหนึ่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกยังกล่าวอีกว่า "วิสาหกิจชุมชนฯ บ้านวังส้มซ่ามีความเข้มแข็งและสมบูรณ์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการสร้างความคิดร่วมกันก่อน จากนั้นมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน มีการสะท้อนการทำงาน วิพากษ์วิจารณ์ ระดมความคิดเห็น และสุดท้ายคือความลงตัวของชุมชน เกิดความร่วมมือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้กว่า 20 ชนิด บ่งบอกถึงความสำเร็จ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การรู้จักเอาใจใส่วัฒนธรรมท้องถิ่น การใช้ทุนทางสังคม คือ ความรักความสามัคคี การรู้จักรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่คือส้มซ่าให้คงอยู่ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญในชีวิต จิตวิญญาณของชาวไทยที่เราจะต้องนึกถึงและรักษาไว้"
จากเหตุผลดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกจึงได้ยกให้วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่าเป็นชุมชนต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่น ๆ โดยพร้อมให้การส่งเสริม สนับสนุน สร้างนวัตกรรม องค์ความรู้โดยอาศัยความร่วมมือขององค์กรและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
ภญ.วรรณศิริ นิ่มพิทักษ์พงศ์ ประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า "บริษัทประชารัฐฯ เป็นการดำเนินการของ 5 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ประชาสังคม และประชาชน ดำเนินงานขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการเกษตร การแปรรูป การท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านกระบวนการพัฒนาและสร้างประสิทธิภาพตลอดต้นทางถึงปลายทาง ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างโดดเด่น ผนวกกับงานวิจัย นวัตกรรม ตลอดจนการตลาด โดยการประสานงาน ดูแล ให้ความรู้ สร้างการเติบโต โดยพยายามเชื่อมโยงจากหิ้งสู่ห้าง พัฒนาจากดาวขยับให้เป็นเดือนให้ได้"
ประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลกฯ กล่าวต่อว่า "ที่ผ่านมาเราพยายามค้นหาชุมชนตัวจริง และวันนี้เราได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า บ้านวังส้มซ่ามีความพร้อม ความสมบูรณ์ที่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ จากความร่วมมือของชุมชนด้วยใจ ด้วยต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน มีผู้นำที่เป็นแกนนำให้ชุมชนขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน เพราะบริษัทประชารัฐฯ ไม่ได้อยู่กับชุมชนนั้นตลอดไป เรามีหน้าที่ช่วยเหลือชุมชนไปเรื่อย ๆ ดังนั้นชุมชนต้องมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่าจึงเป็นชุมชนต้นแบบในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทประชารัฐฯ ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้"
ด้านนางเผอิญ พงษ์สีชมพู ประธานวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า กล่าวว่า "ดีใจและภูมิใจมากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกสนใจให้ความสำคัญ และให้เราเป็นชุมชนต้นแบบภายใต้การดำเนินงานของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลกฯ ทำให้ชุมชนมีความมุมานะมากยิ่งขึ้น คนอื่น ๆ ในชุมชนหันมาสนใจให้ความร่วมมือ มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนมีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง"