กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ที่ระดับ 'A-(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F2(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้นำตลาดภายในประเทศ: TASCO เป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจยางมะตอยของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 40 ในธุรกิจแอสฟัลต์ซีเมนต์ (Asphalt Cement) และมากกว่าร้อยละ 60 ในสินค้ายางมะตอยชนิดพิเศษ (Premium Asphalt) ฟิทช์คาดว่า TASCO น่าจะยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจนี้ไว้ได้ในอีกห้าปีข้างหน้า เนื่องจากประสบการณ์อันยาวนานและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในธุรกิจยางมะตอย
การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์: TASCO เป็นผู้ประกอบการที่สำคัญรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทฯ มีโรงงานผลิตจำนวน 41 โรงงาน ตั้งอยู่ใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นยางมะตอยในประเทศมาเลเซียด้วย ยอดขายของ TASCO ประมาณร้อยละ 70 เป็นยอดขายสินค้าในตลาดต่างประเทศ โดยมีการขายกระจายอยู่ใน 5 ประเทศหลัก ประกอบด้วย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และเวียดนาม และยังมีการขายในประเทศอื่นอีกกว่า 10 ประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจเรือขนส่งของตนเอง การกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีน่าจะมีส่วนช่วยให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น เนื่องจากสินค้าสามารถตอบสนองความต้องการซื้อที่หลากหลายและตลาดมีวัฏจักรที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
อัตราส่วนกำไรที่คาดว่าจะลดลง – ฟิทช์คาดว่า TASCO จะสามารถรักษาระดับอัตราส่วนกำไรขั้นต้นที่แข็งแกร่งเกินกว่าร้อยละ 15 ได้ในปี 2559 จากราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำและยอดขายภายในประเทศที่เติบโตในช่วงครึ่งปีแรก ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรขั้นต้นจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 10-12 ในปี 2560 เป็นผลมาจากการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น และราคายางมะตอยที่น่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปทานในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 80-100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเช่นเดียวกับช่วงก่อนปี 2558 อัตราส่วนผลกำไรของ TASCO จึงน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในช่วงสองปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าในช่วงปี 2556-2557
ความสามารถในการขยายธุรกิจ: แผนการใช้เงินลงทุนในช่วงห้าปีข้างหน้าของ TASCO จำนวนรวม 8 พันล้านบาท (สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา) เพื่อขยายธุรกิจไปทั่วโลก และขยายผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเป็นแนวทางสู่เป้าหมายของ TASCO ที่จะเป็นผู้ประกอบการระดับสากล การลงทุนที่สูงจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินของ TASCO ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงห้าปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 4.0 เท่า (ระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทฯ ได้หากอัตราส่วนดังกล่าวยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง) เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินฯ ที่ต่ำ โดยอยู่ในระดับ 0.3 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) ที่ระดับประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี
ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน: TASCO ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบซึ่งได้แก่น้ำมันดิบเป็นหลัก แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นไม่มากนัก นอกจากนี้ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบจากอเมริกาใต้มายังโรงกลั่นในประเทศมาเลเซียยังทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างราคาสินค้าผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นกับราคาน้ำมันดิบที่ซื้อมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว โดยการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในระดับหนึ่ง
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- สัดส่วนของการขาย Asphalt Cement ต่อ Premium Asphalt ที่ 90:10;
- อัตราการเติบโตของรายได้ประมาณร้อยละ 10 ในปี 2560 และประมาณร้อยละ 20 ในสองปีต่อมา เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
- อัตราส่วนกำไรขั้นต้นลดลงอยู่ในระดับร้อยละ 16 ในปี 2559 และค่อยๆ ลดลงในปีต่อๆไป มาอยู่ในระดับร้อยละ 9-10;
- อัตราการเงินปันผลที่ 40%-50% ของกำไรสุทธิ ในปี 2559-2560;
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ 3-4 พันล้านบาทในปี 2559 และ 1-2 พันล้านบาทต่อปีในปี 2560-2561
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- การเพิ่มขึ้นของขนาดธุรกิจและการกระจายตัวของแหล่งรายได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่อัตราส่วนหนี้สินฯ ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่า
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วนหนี้สินฯ ที่สูงกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการลงทุนที่สูงขึ้นโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม, ส่วนต่างราคาขายและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมที่ต่ำ หรือราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่อง