กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--อพวช.
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ กองทัพอากาศ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค เดินหน้าสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ จัดการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 15 โดยมี นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและปิดการแข่งขัน ในวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 ณ สนามบินเล็กทุ่งสีกัน กองทัพอากาศ ผลปรากฎว่า ทีม "แม่นแค่ไหน ไปดูกัน" จากโรงเรียนสตรีทุ่งสง ชนะเลิศประเภทแม่นยำระดับมัธยมศึกษา โดยจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกับตัวแทนเยาวชนอีกกว่า 11 ประเทศ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กับการแข่งขันจรวดขวดน้ำนานาชาติ "APRSAF Water Rocket Event" ต่อไป
นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 15 รอบชิงชนะเลิศว่า "เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสังคมในอนาคตเป็น "สังคมฐานความรู้" กิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำ ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนและประชาชน ให้สนใจเรื่องของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น การแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ เป็นกิจกรรมหนึ่งในการกระตุ้น เสริมสร้างพัฒนาทักษะกระบวนการ และการเรียนทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบให้กับเยาวชนควบคู่กับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานและท้าทาย โดยเยาวชนจะได้ลงมือปฏิบัติจริง ทดลอง สังเกต แก้ปัญหา ทำงานร่วมกับทีมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ให้เป็นจรวดขวดน้ำ ฐานปล่อยจรวด และขอให้เยาวชนทุกคนเก็บประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป แม้ว่าจะไม่ได้รางวัลใด ๆ ก็ตาม"
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า "กิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก จับต้องได้ใช้ประโยชน์ได้จริง การประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ เป็นการนำหลักการ STEM Education มาใช้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ (Science) ได้แก่ แรง โพรเจคไทล์ มุมยิง ฯลฯ ด้านเทคโนโลยี (Technology) ได้แก่ การบิน การลอยตัว ด้านวิศวกรรม (Engineering) ได้แก่ การประดิษฐ์จรวดขวดน้ำให้มีความเหมาะสมในการแข่งขันแต่ละประเภท ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics) ได้แก่ คำนวณแรงลม ทิศทาง มุมยิงจากแท่นยิง ความไกล ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเป็นการนำ STEM มาประยุกต์ในการแข่งขันจรวดขวดน้ำได้อย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้น การประดิษฐ์ให้เกิดความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ยังก่อให้เกิดทักษะด้านศิลปะ (Art) อีกด้วย"
กิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ เป็นกิจกรรมที่ อพวช. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในทุก ๆ ปี ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุกการทำกิจกรรม โดยในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศ ในการให้พื้นที่สนามบินเล็กทุ่งสีกันจัดการแข่งขัน, บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด สนับสนุนการประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขัน, และมหาวิทยาลัยในภูมิภาคได้ร่วมทำงานในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา, วิทยาเขตจันทบุรี, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวน 1,334 ทีม โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ จำนวน 320 ทีม และเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 40 ทีม สำหรับทีมเยาวชนที่ชนะการประกวดประเภทแม่นยำระดับมัธยมศึกษาจะได้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำนานาชาติ "APRSAF Water Rocket Event" ซึ่งมีเยาวชนจากทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมแข่งขันในทุกปี โดยในปีที่ผ่านได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ นายปฎิภาน สำราญ ตัวแทนเยาวชนไทยสามารถคว้าอันดับ 1 มาครอง ด้วยสถิติ 2.44 เมตร ยังความปลาบปลื้มให้กับประเทศเป็นอย่างมาก
พลอากาศตรี ชฤทธิพร คำหอม รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ กล่าวว่า "กองทัพอากาศยินดีให้การสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประชาชน ชาวไทย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำจะได้ประสบการณ์ เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดนำไปสู่นวัตกรมมในการประดิษฐ์คิดค้นต่อไป"
คุณปิลันธนี พาณิชพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า "ทรูวิชั่นส์ ในฐานะสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมไทย ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนทั้งในด้านการศึกษาและกีฬาต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี โดยร่วมมือกับองค์กรหลายๆ องค์กร สำหรับความร่วมมือกับ อพวช. นั้น กลุ่มบริษัททรูได้ร่วมจัดโครงการที่เป็นประโยชน์กับเยาวชน อาทิ โครงการค่ายเยาวชนทรู โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย และโครงการการแข่งขันจรวดขวดน้ำที่ทรูวิชั่นส์ให้ความสำคัญและให้ความสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์โครงการเชิญชวนรับสมัคร ตลอดจนนำความสามารถของน้องๆ ในโครงการจรวดขวดน้ำ ประมวลเป็นภาพกิจกรรมการแข่งขัน ออกอากาศผ่านทางทรูวิชั่นส์กว่า 20 ช่องรายการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบว่าเยาวชนไทยของเรามีความสามารถ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในด้านวิทยาศาสตร์ที่น้องๆ มีความสนใจต่อไป"
สำหรับทีมโรงเรียนที่ชนะเลิศในประเภทความไกลและคะแนนรวม จะได้รับทุนการศึกษาจาก อพวช. ทีมละ 20,000 บาท ประเภทแม่นยำ 10,000 บาท และประเภทการนำเสนอผลงานฯ 5,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีโล่เกียรติยศและของรางวัลอีกมากมายจาก บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ติดตามผลการแข่งขันและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 1414 หรือ www.nsm.or.th หรือ www.facebook.com/thailandwaterrocketchampionship