กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาครัฐ จัดโครงการแข่งขัน "สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ ปี 4 (Cabling Contest 2016)" รอบคัดเลือกภาคเหนือ เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้เทคโนโลยีสายสัญญาณที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันผ่านการแข่งขันทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคน่านคว้ารางวัลชนะเลิศเป็นตัวแทนภาคเหนือ ทะลุเข้ารอบสุดท้าย ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน พร้อมเงินรางวัลมูลค่ากว่า 400,000 บาท และมีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลก World Skills ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
จากความสำเร็จของโครงการ "สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ (Cabling Contest)" ปี 1 – 3 ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของวงการการศึกษาด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจสายสัญญาณ จึงได้ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน จัดโครงการ "สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ (Cabling Contest)" ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้การสนับสนุนของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ LINK จากสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษา ได้เรียนรู้เทคโนโลยีสายสัญญาณที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันผ่านกิจกรรมการอบรมและแข่งขัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา พร้อมต่อยอดทักษะและความรู้ในเวทีระดับโลก ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ รองรับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งประสบการณ์ที่ผู้ร่วมการแข่งขันจะได้รับในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสายสัญญาณในประเทศไทยอีกด้วย
ในส่วนของรูปแบบการแข่งขัน นายณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า "ปีที่แล้วเราได้รับการตอบรับจากนิสิต นักศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่วนรูปแบบการแข่งขันในปีนี้ ยังคงแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเช่นเดิม ซึ่งภาคปฏิบัติเป็นการแข่งขันเข้าหัวต่อกับสายสัญญาณ LAN (สายสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์) และการแข่งขันเข้าหัวต่อกับสายCOAXIAL (สายกล้องวงจรปิด CCTV) นอกจากนี้เรายังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของสาย FIBER OPTIC (สายใยแก้วนำแสง) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในยุคดิจิทัล โดยเราได้จัดรอบคัดลือกทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งภาคเหนือเป็นภูมิภาคสุดท้ายแล้วที่เราจัดการแข่งขัน โดยมาจัดกันที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีน้องๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจากหลากหลายสถาบันกว่า 400 คน"
นายณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ผู้ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ 55 คน จะได้เข้าไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและขวัญกำลังใจอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับถ้วยเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับถ้วยเกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และนอกเหนือไปจากนั้น ผู้ชนะเลิศยังมีโอกาสได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลก World Skills ที่จะจัดขึ้นในปี 2560 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีผลิตภัณฑ์ LINK เป็นผู้สนับสนุนหลักอีกด้วย"
ทั้งนี้ การแข่งขันรอบคัดเลือกภาคเหนือจัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายมนัส ถังใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน และผู้แทนจากองค์กรภาคีภาครัฐเข้าร่วมงาน อาทิ นายวิชัย ประทีปทิพย์ ผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุเมธ โศจิพลกุล ผู้แทนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานโดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายเอกลักษณ์ ณ ค้อ จากวิทยาลัยเทคนิคน่าน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายวรพล นันทวงษ์ จากวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายจตุพร สุทธิพันธุ์ จากวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร นอกจากนี้ยังมีผู้ผ่านการคัดเลือกอีก 7 คนที่ได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ร่วมกับตัวแทนจากภาคภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 55 คน