กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี
สคร.10 อุบลฯ เผย พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนะประชาชนให้ความสำคัญ ตระหนักถึงอาการเบื้องต้น และเข้ารับการรักษาให้ทันเวลา
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่าข้อมูลจากองค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) รายงานสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย พบอัตราเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2556 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย โดยสาเหตุมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหาร เค็มจัด หวานจัด มันจัด ไม่รับประทานผัก ผลไม้ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย และเครียด พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อปฏิบัติติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองมีทั้งที่สามารถป้องกันได้และไม่สามารถป้องกันได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้คือ อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เพศ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้น และพันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่ ภาวะความดันเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หากสามารถลดพฤติกรรมหรือภาวะเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตน้อยลง
สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น ประชาชนควรเรียนรู้สัญญาณเตือนของโรคนี้ ซึ่งอาจพบอาการเพียง 1 อาการ หรือมากกว่า 1 อาการ คือใบหน้าอ่อนแรง หรือหน้าเบี้ยว สับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น มีอาการมึนงง เดินเซ เสียศูนย์ ผู้มีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดหรือภายใน 3 ชั่วโมง เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ ท่านที่มีอาการดังกล่าวสามารถโทรส่วนด่วน 1669 โดยจะมีให้บริการรับส่งโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ นอกจากนี้ควรทราบค่าความดันโลหิต ในผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป ควรวัดความดันโลหิตอย่างน้อยละปี 1 ครั้ง ทราบค่าระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลของตนเอง เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม และควรเพิ่มพัก ผลไม้ในแต่ละมืออาหาร ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดหรือลดการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยองค์การอัมพาตโลกได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์อัมพาตโลก ซึ่งประเด็นการรณรงค์ในปี 2559 นี้ คือ "Face the facts : Stroke is treatable. "อัมพฤกษ์ อัมพาต ป้องกัน รักษาได้" หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 /นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย