กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--NBTC Rights
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 25/2559 วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตาคือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 สายงานกิจการโทรคมนาคม, สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับคู่สัญญา จำนวนทั้งสิ้น 10 วาระ, การแก้ไขเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการภายหลังเลิกใช้บริการแล้ว, แนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และรายงานสถานะการใช้เลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นประจำปี 2558
วาระงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 สายงานกิจการโทรคมนาคม
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ของสายงานกิจการโทรคมนาคม จำนวนทั้งสิ้น 856,980,270 บาท แบ่งเป็นงบดำเนินการ 461,034,270 บาท คิดเป็น 54% ของยอดรวม และงบโครงการ 395,946,000 บาท คิดเป็น 46% ของยอดรวม อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคำขอตั้งงบประมาณในปีนี้สูงกว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการอนุมัติของปี 2559 ถึง 43% ซึ่งในปี 2559 ได้รับอนุมัติงบจำนวนทั้งสิ้น 601,439,900 บาท
ทั้งนี้ แนวทางการตั้งงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. ในปี 2560 นี้ ควรต้องพิจารณาเชื่อมโยงกับแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2555 – 2559 ที่ใกล้สิ้นสุดลงด้วย โดยวิเคราะห์ดูว่าหากพันธกิจใดยังไม่บรรลุตามแผน ก็ควรเร่งดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง โดยพบว่าการตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ไม่ได้วิเคราะห์ในจุดนี้ แต่ยังคงเป็นเพียงการรวบรวมคำของบประมาณของแต่ละสำนักเสนอกรรมการพิจารณาเหมือนเช่นแนวปฏิบัติเดิมที่แล้วมา โดยมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า คำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายในปีนี้ เป็นสัดส่วนของงบดำเนินงานสูงถึง 54% เพิ่มขึ้นจากงบดำเนินงานปี 2559 ถึง 36% ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำของบประมาณรายจ่ายในส่วนของจ้างเหมาบริการเพิ่มขึ้นเป็น 121,429,000 บาท จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 44,555,000 บาทในปี 2559 คิดเป็นการตั้งงบเพิ่มขึ้นถึง 172.5% อีกทั้งยังพบด้วยว่าโครงการใหม่ที่เสนอในปี 2560 มีการผูกพันงบประมาณปีถัดไปจำนวนมาก ซึ่งโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายในลักษณะเช่นนี้ ดูจะไม่สอดคล้องกับหลักการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าสนใจด้วยว่า ในคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 มีการขอตั้งงบดำเนินโครงการสำรวจพื้นที่และออกแบบรายละเอียดสัญญาณโทรศัพท์และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล จำนวนประมาณ 12,000 หมู่บ้าน จำนวนเงิน 89,909,000 บาท ซึ่งเดิมเป็นโครงการภายใต้แผนดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องการวางโครงข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 40,000 หมู่บ้าน แต่ได้รับข้อท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในประเด็นที่อาจมีความซ้ำซ้อนกับภารกิจการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ของสำนักงาน กสทช. ด้วยเหตุนี้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับผิดชอบการขยายโครงข่ายและให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวน 12,000 หมู่บ้านแทน
วาระสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับคู่สัญญา
วาระนี้สืบเนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งสำเนาสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง กฟผ. และคู่สัญญา จำนวนทั้งสิ้น 10 ฉบับ ให้ กทค. พิจารณา
ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่องการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2556 กำหนดให้สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตจะต้องไม่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก หรือกีดกันผู้รับใบอนุญาตรายอื่น รวมทั้งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ให้ใช้โครงข่ายต้องเปิดเผยสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเป็นการทั่วไปต่อสาธารณะอย่างครบถ้วนผ่านทางเว็บไซต์ของตนภายใน 15 วันนับแต่วันที่คู่สัญญาทุกฝ่ายได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว
อย่างไรก็ดี ในการเสนอวาระเหล่านี้ให้ กทค. พิจารณา สำนักงาน กสทช. ไม่ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมที่ระบุไว้ในสัญญาของผู้รับใบอนุญาตทุกสัญญาอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าผู้รับใบอนุญาตกำหนดอัตราค่าตอบแทนในบริการประเภทเดียวกันแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันกับคู่สัญญาแต่ละราย รวมทั้งเพื่อให้การกำหนดอัตราค่าตอบแทนมีลักษณะเป็นธรรมและสมเหตุสมผล
นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องเปิดเผยสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองเป็นการทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับใบอนุญาตมิได้เปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะ หรือเปิดเผยสัญญาไม่ครบถ้วน นี่จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำนักงาน กสทช. ควรต้องตรวจสอบและกำชับผู้รับใบอนุญาตให้เปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะตามข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนด้วย
วาระเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการภายหลังเลิกใช้บริการ
วาระนี้เป็นการพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภครายหนึ่งที่ประสบปัญหาถูกเรียกเก็บค่าบริการภายหลังยกเลิกใช้บริการแล้ว โดยผู้ร้องเรียนรายนี้แจ้งว่าเคยเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายรายเดือนกับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด แต่ได้โทรแจ้งยกเลิกบริการทางคอลล์เซ็นเตอร์ของบริษัทเมื่อปี 2551 ซึ่งพนักงานตอบกลับยืนยันการยกเลิกแล้ว แต่ต่อมาในปี 2553 ผู้ร้องเรียนกลับได้รับหนังสือทวงหนี้ว่ามียอดค้างชำระ 7,300 บาท ผู้ร้องเรียนจึงไปชำระค่าบริการดังกล่าวที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสเซเว่นอีเลฟเว่น หลังจากนั้นก็ไม่มีหนังสือติดตามทวงหนี้มาอีกเลย จนกระทั่งเดือนมีนาคม ปี 2558 กลับได้รับหนังสือทวงหนี้อีกครั้ง จำนวนประมาณ 9,400 บาท แต่ด้วยเหตุที่เวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ผู้บริโภครายนี้จึงทิ้งหลักฐานการชำระเงินไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงมาร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช.
กรณีนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมพิจารณาแล้วมีมติว่า จากข้อเท็จจริงไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ร้องเรียนค้างชำระค่าบริการ แม้จริงอยู่ว่าผู้ร้องเรียนไม่มีหลักฐานการชำระเงินมายืนยัน แต่เพราะหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้ว ผู้ร้องเรียนจึงไม่มีความจำเป็นต้องเก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ ดังนั้นหากบริษัทฯ ประสงค์เรียกเก็บค่าบริการจำนวนดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการใช้สิทธิทางศาลได้
วาระแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 6/2558 วันที่ 31 มีนาคม 2558 มีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดทำหลักเกณฑ์การทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมหรือเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดว่า "การขอใบอนุญาตในการติดตั้งเสาวิทยุโทรคมนาคม ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะติดตั้งและบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันความวิตกกังวลของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก"
วาระนี้ สำนักงาน กสทช. จึงนำเสนอร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมภายหลังผ่านการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา
สาระหลักของร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนฯ ฉบับนี้ กำหนดให้เสาส่งสัญญาณที่มีกำลังส่งมากกว่า 30 วัตต์ หรือที่ติดตั้งใกล้สถานพยาบาล โรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็ก จะต้องมีการจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งจำนวน 1 ครั้ง รวมทั้งติดป้ายเพื่อแสดงข้อมูลและแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนในรัศมี 500 เมตร ส่วนกรณีเสาส่งสัญญาณที่มีกำลังส่งน้อยกว่า 30 วัตต์ ให้ผู้ประกอบการดำเนินการเพียงติดป้ายและแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชน โดยระยะเวลาในการทำความเข้าใจต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน และหากมีเรื่องร้องเรียนภายใน 30 วัน ให้ผู้ประกอบการทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียนโดยตรงก่อน และหากยังไม่ได้ข้อยุติ ก็ให้แจ้งผู้นำชุมชนเพื่อเชิญประชาชนมาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจอีก 1 ครั้ง และอาจเชิญผู้แทนสำนักงาน กสทช. ร่วมทำความเข้าใจด้วยก็ได้
อันที่จริงการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมเป็นเรื่องสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง อีกทั้งเป็นประเด็นที่มีข้อพิพาทและคัดค้านในหลายพื้นที่เนื่องจากหวาดกลัวถึงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนฯ จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน และเน้นการทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีโดยรอบอย่างแท้จริง ไม่ใช่ดำเนินการลักษณะพิธีกรรมเพื่อให้ครบกระบวนการ ดังนั้นการที่ร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนฯ ดังกล่าว ระบุไว้สำหรับกรณีเสาส่งสัญญาณมีกำลังส่งเกิน 30 วัตต์ หรือติดตั้งใกล้สถานพยาบาล โรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็ก รวมทั้งในกรณีที่มีการร้องเรียนภายใน 30 วัน ให้มีการจัดประชุมเพียงครั้งเดียวนั้น ดูจะไม่มีความยืดหยุ่นและน่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ หากไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่รัดกุม เช่นการแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลและเชิญประชุมก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องแจกเอกสารให้กับทุกครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 500 เมตร ขณะที่รายละเอียดของข้อมูลที่ใช้ทำความเข้าใจ ก็ควรเป็นข้อมูลที่แสดงให้ทราบถึงระดับความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะแผ่ออกจากสถานี และถ้าเป็นพื้นที่ที่มีเสาส่งสัญญาณอื่นที่แพร่คลื่นอยู่แล้ว ก็ควรมีการคำนวณผลรวมของระดับความแรงของคลื่นที่จะถูกปล่อยออกมาพร้อมกันด้วย
วาระรายงานสถานะการใช้เลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นประจำปี 2558
วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานให้ที่ประชุม กทค. ทราบถึงสถานะการใช้เลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น ประจำปี 2558 ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า สถานะการใช้เลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 4 หลักในปี 2558 มีการจัดสรรเลขหมายให้แก่ภาคเอกชน ภาครัฐ มูลนิธิและองค์กรทางสังคม 353 ราย จำนวนทั้งสิ้น 369 เลขหมาย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 20 เลขหมาย สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งใช้เลขหมาย 1131 มีการจัดสรรให้กับ อบจ. ทั้งสิ้น 12 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 2 แห่ง ส่วนสำนักงานเทศบาลเมืองและสำนักงานเทศบาลนคร ซึ่งใช้เลขหมาย 1132 มีการจัดสรรให้ทั้งสิ้น 33 แห่ง โดยมี 4 แห่งที่ขอยกเลิกการใช้เลขหมาย
อย่างไรก็ดี ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2557 กำหนดให้ผู้ได้รับการจัดสรรเลขหมายมีหน้าที่ต้องรายงานสถานะการใช้เลขหมายที่ได้รับอนุญาตมายังสำนักงาน กสทช. ทุกๆ สิ้นปีด้วย ซึ่งรายงานสถานะการใช้เลขหมายต้องประกอบด้วยหลักฐานแสดงการใช้งานหรือการเชื่อมต่อวงจรเลขหมาย และสถิติปริมาณการเรียกเข้าเลขหมาย แต่ปรากฏว่าในปี 2558 มีผู้ได้รับการจัดสรรเลขหมายที่ไม่ดำเนินการรายงานสถานะการใช้งานเลขหมายถึง 79 ราย และรายงานไม่ครบถ้วน 49 ราย ซึ่งทำให้ไม่แน่ใจว่าผู้ที่ไม่ได้จัดส่งรายงานยังคงมีการใช้งานเลขหมายอยู่อีกหรือไม่ รวมทั้งมีการใช้งานตรงตามวัตถุประสงค์ที่ขอรับการจัดสรรเลขหมายหรือไม่ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงควรพิจารณากำหนดบทลงโทษหน่วยงานที่ไม่มีการรายงานสถานะการใช้งานเข้ามา เช่นการขอคืนเลขหมาย ซึ่งหากการดำเนินการติดขัดในข้อประกาศที่ไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้ ก็ควรมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศ เพื่อให้การบริหารและใช้งานเลขหมายโทรคมนาคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป