กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 เวลา 09.00 น.
ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559
โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปได้ดังนี้
1. คนร. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ 5 ปี ให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นแผนแม่บท (Roadmap) ที่ชัดเจนในการพัฒนารัฐวิสาหกิจต่อไป โดยให้เสนอ คนร. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว
2. การแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง
คนร. ได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจเสนอ โดยรัฐวิสาหกิจในภาพรวมมีความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายสามารถสรุปได้ดังนี้
1) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ธพว. โดย ธพว. มีผลการดำเนินงานในภาพรวมที่ดีขึ้น ทั้งในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่ และยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของแผนการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ หาก ธพว. มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณานำเสนอ คนร. ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ทำหน้าที่กำกับและติดตามการดำเนินงานของ ธพว. ตามปกติต่อไป
2) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)คนร. รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ได้จัดตั้งแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดการเพิ่มทุนเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน ของ ธอท. และให้ ธอท. เร่งหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริการสินเชื่ออิสลามโดยเร็ว
3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
- คนร. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในเรื่องการปฏิรูปการเดินรถโดยสารทั้งระบบในภาพรวม โดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ส่งผลให้มีการแยกบทบาทระหว่างผู้กำกับดูแลการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ (Regulator) และผู้ให้บริการเดินรถ (Operator) ออกจากกัน
อย่างชัดเจน โดยให้ ขบ. เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ให้บริการเดินรถ (Operator) เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เพียงพอ มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขบ. อยู่ระหว่างการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสาร และกำหนดเส้นทางการเดินรถให้แก่ ขสมก. โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ขสมก. คาดว่าจะรับรถได้ภายในเดือนธันวาคม 2559 และให้บริการได้ตั้งแต่ต้นปี 2560
- คนร. มอบหมายให้ ขสมก. เร่งจัดหารถโดยสารที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอและประเมินความคุ้มค่าของรถแต่ละประเภท รวมทั้งนำร่องให้นำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ และให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดต่อไป ตลอดจนให้ ขสมก. แยกแก้ไขปัญหาออกเป็น 2 ส่วน ทั้งในการแก้ไขหนี้ที่มีอยู่เดิม และการสร้างรายได้ในอนาคตเพื่อสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.)คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ บกท. โดย บกท. มีผลประกอบการที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของ บกท. โดยการเริ่ม
นำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ในการดำเนินงาน
5) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ รฟท. ในการดำเนินการของคณะทำงานเพื่อเสนอแนะแนวทางและกำกับติดตามการพัฒนาที่ดินที่ไม่ใช้ในการเดินรถ (Non-core) ของ รฟท. ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่เบื้องต้นที่ใช้ในการจัดทำแผนการพัฒนาที่ดิน Non-core (Roadmap) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 ทั้งนี้ มอบหมายให้ รฟท. สร้างความชัดเจนถึงอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ นำเสนอ คนร. ในการประชุมครั้งหน้า
6) – 7) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)(บมจ. กสท.)คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ บมจ. ทีโอที. และ บมจ. กสท. โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง เร่งจัดตั้งบริษัทลูกที่รัฐถือหุ้น 100% จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ โครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ โครงข่ายบรอดแบนด์ระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต โดยให้สามารถเริ่มประกอบกิจการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560 ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แก้ไขปัญหาองค์กรให้ได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ ในปี 2560 คนร. ได้มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรดังกล่าว ไปใช้ประกอบการจัดทำตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2560 ด้วย
3. ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....คนร. รับทราบความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจพ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ คนร. ได้เห็นชอบกรอบระยะเวลาการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเสนอ โดยเห็นควรให้มีการผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเดือนธันวาคม 2559
4. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi - Stakeholder Group) สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)
(1) คนร. รับทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เกี่ยวกับผลการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ที่เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi-Stakeholder Group : MSG) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) ให้มีเพียงคณะเดียว โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และให้กรมบัญชีกลางเป็นเลขานุการ เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลของโครงการก่อสร้างภาครัฐทั้งภาคราชการและภาครัฐวิสาหกิจ มีมาตรฐานและแนวทางที่เป็นระบบ รวมทั้งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางยังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและรักษาการตามระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
(2) คนร. มีมติยกเลิกคำสั่ง คนร. ที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ MSG อย่างไรก็ตาม เพื่อเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ MSG ชุดเดิมทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)ของภาครัฐวิสาหกิจไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเริ่มดำเนินการ
5. การกำหนดทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญของกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Skill Matrix)คนร. มีมติเห็นชอบในหลักการการกำหนดทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญของกรรมการรัฐวิสาหกิจ(Skill Matrix) เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับความต้องการและสมรรถนะหลัก (Core Competencies) ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ โดยมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งจัดทำ Skill Matrixที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ โดยพิจารณาจากความรู้ทางการศึกษาและประสบการณ์การทำงานในสาขา
ด้านต่างๆ เช่น ด้านวิศวกรรม ด้านบัญชี ด้านกฎหมาย เป็นต้น เพื่อนำเสนอคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาก่อนส่งให้ สคร. ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559
ทั้งนี้ ในการพิจารณาสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจควรมีการพิจารณาทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่กรรมการทั้งคณะยังขาดอยู่ เพื่อให้กรรมการรัฐวิสาหกิจทั้งคณะมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกด้านที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเพื่อให้ได้กรรมการรัฐวิสาหกิจที่มีคุณสมบัติตอบสนองต่อวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปและขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วย