กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 59 ครม. มีมติเห็นชอบตามที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต คือ การเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 เป็น "พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย" เนื่องด้วย ร.5 ทรงริเริ่มปฏิรูปแนวทางการพัฒนาการผลิตข้าวที่ส่งผลและเอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าข้าวของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนานัปการทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ 1) ทรงยกเลิกกรมนาแล้วโปรดจัดตั้งกระทรวงเกษตราธิการ 2) ทรงส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีในการทำนา การเพิ่มผลผลิตข้าว ขยายพื้นที่ปลูกข้าวด้วยการวางรากฐานระบบชลประทานสมัยใหม่ และทรงนำเครื่องจักรไถนามาทดลองใช้ 3) ทรงเลิกทาส ส่งผลให้เพิ่มแรงงานในการผลิตข้าว เป็นแบบอย่างการเกษตรสมัยใหม่ 4) ทรงพัฒนาคุณภาพข้าวไทย ด้วยการแสวงหาพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ มีการประกวดพันธุ์ข้าว 5) ทรงสนับสนุนการค้าข้าว โดยริเริ่มระบบขนส่งทางรถไฟและกิจการไปรษณีย์โทรเลข และ 6) ทรงวางรากฐานงานวิจัยและพัฒนาข้าวไทย โปรดให้ตั้ง ร.ร.เกษตราธิการ
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ครม. ยังได้มีมติเห็นชอบการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.9 เป็น "พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย" เนื่องด้วยรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสต่าง ๆ เกี่ยวกับข้าวหลายด้าน อีกทั้งมีพระราชดำริและทรงดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว การทดลองและวิจัยโครงการส่วนพระองค์ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงสนับสนุนงานวิจัยข้าว ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทกำลังพระวรกายและทรงพระราชวิริยอุตสาหะในการปรับใช้ผลการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแก่พสกนิกรชาวไทย ได้แก่ 1) ทรงสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร ด้วยการฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรด-พระนังคัลแรกนาขวัญ 2) ทรงสร้างความมั่นคงทางอาหาร กำเนิดธนาคารข้าว เกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการทำนาขั้นบันได โครงการฝนหลวง การสร้างความร่วมมือในระดับชุมชน 3) ทรงให้ความสำคัญด้านการเพิ่มปริมาณและคุณภาพข้าว กำเนิด ธนาคารเมล็ดพันธุ์ การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เรียกว่า "แกล้งดิน" เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าว รวมทั้งการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสู่เกษตรกรที่เรียกว่า "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" 4) ทรงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยศึกษาวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการปลูกข้าวและแปรรูปผลผลิตข้าวผ่านศูนย์ศึกษาและพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง เป็นการสนับสนุนอาชีพให้แก่เกษตรกร 5) ทรงพระราชทานแนวทางวิจัยและพัฒนาข้าวในโอกาสต่าง ๆ โดยให้คำนึงถึงต้นทุนการผลิต ระยะเวลาการปลูก แรงงาน ปริมาณน้ำ ปริมาณปุ๋ย และภาวการณ์ด้านตลาด 6) ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรวิจัยและพัฒนาข้าว ทั้งในและต่างประเทศ และ 7) ทรงพระราชทานทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านข้าวผ่านทางสำนักงานทรัพย์สินส่วน-พระมหากษัตริย์เป็นประจำทุกปี โดยได้มอบหมายสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ต่อไป
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยและพัฒนาด้านข้าวของประเทศไทย ได้เริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงการเพาะปลูกข้าวและพัฒนาข้าวของประเทศไทยให้มีคุณภาพ โดยให้มีการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านชลประทานที่ใช้ในการปลูกข้าวของชาวนา และจัดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวจากทุ่งหลวงซึ่งอยู่ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ต่อมาในปี 2459 ได้มีการก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านข้าวขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือ "นาทดลองคลองรังสิต" ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการปฏิรูปข้าวไทย นอกจากนี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ยังทรงสนพระทัยงานด้านวิจัยและพัฒนาข้าวไทยมาโดยตลอด มีการส่งเสริมสนับสนุนข้าวไทยจนเป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง "International Rice Award"เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติให้แด่พระองค์