กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย 8 จังหวัด 30 อำเภอ 198 ตำบล 1,005 หมู่บ้าน ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พิจิตร กระบี่ และสุราษฎร์ธานี โดยปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำท่วมลดลง เนื่องจากพื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนมีปริมาณฝนลดลง จึงได้มีการปรับลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปภ. ได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำท่วมขังไปยังพื้นที่รองรับน้ำ รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิด น้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และดินสไลด์ใน 8 จังหวัด รวม 30 อำเภอ 198 ตำบล 1,005 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคกลาง 5จังหวัด 25 อำเภอ 184 ตำบล 955 หมู่บ้าน ได้แก่ นครสวรรค์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะโก อำเภอหนองบัว อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง และอำเภอลาดยาว รวม 14 ตำบล 39 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,252 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 190 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 269,474 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ชัยนาท น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองมะโมง อำเภอหันคา อำเภอสรรคบุรี อำเภอวัดสิงห์ อำเภอมโนรมย์ และอำเภอสรรพยา รวม 30 ตำบล 174 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,708 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 37,837 ไร่ ถนนเสียหาย 234 สาย สิงห์บุรี น้ำจากจังหวัดนครสวรรค์และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อต้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี และอำเภอเมืองสิงห์บุรี รวม 13 ตำบล 76 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,723 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 13,927 ไร่ อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอไชโย รวม 19 ตำบล 54 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,353 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 6,361 ไร่ พระนครศรีอยุธยา น้ำจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอมหาราช และอำเภอนครหลวง รวม 108 ตำบล 612 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 31,363 ครัวเรือน ภาคเหนือ 1 จังหวัด 3 อำเภอ 12 ตำบล 48 หมู่บ้าน ได้แก่ พิจิตร เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล และอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,916 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 63,660 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำภาคใต้ 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ กระบี่ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภออ่าวลึก ประชาชนได้รับผลกระทบ 19 ครัวเรือน สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอคีรีรัฐนิคม ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน โดยปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำท่วมลดลงในทุกจังหวัด เนื่องจากพื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนมีปริมาณฝนลดลง จึงได้มีการปรับลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนเขตเศรษฐกิจไปยังแหล่งรองรับน้ำ รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พร้อมเร่งซ่อมแซมสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป