กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งผลักดันกลุ่มผู้ประกอบการ/วิสาหกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) พัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การยกระดับเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม คุณภาพสินค้าและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดเพื่อให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและ เครื่องแต่งกายมุสลิมได้พัฒนาและผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ด้วยการพัฒนาเครือข่ายและการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในสาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยการเจรจาจับคู่ธุรกิจของไทย กับประเทศสมาชิกอาเซียน+3
วันนี้ (27 ตุลาคม 2559) นายประสงค์ นิลบรรจง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดอาเซียน - Muslim Market Focus (Product Development Workshop Project 2017) โดยมี นางสาวนงเยาว์ ศรีฉันทะมิตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภาคใต้ตอนล่าง (หาดใหญ่), นายวิวัฒน์ หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, กลุ่มผู้ประกอบการ/วิสาหกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ณ ห้องเกษมสันต์ โรงแรมโกลเด้นท์ คราวน์ หาดใหญ่
นายประสงค์ นิลบรรจง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า กิจกรรมเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดอาเซียน จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Muslim Market Focus (Product Development Workshop Project 2017) โดยโครงการในปีงบประมาณ 2560 นี้ สถาบันฯ มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมที่มีเอกลักษณ์ ที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดที่มีความต้องการเฉพาะ (Segmentation) และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบและการตลาด โดยการดำเนินงานได้แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรม คือ 1. กิจกรรมการศึกษาข้อมูลด้านการตลาดฯ ตลาดระดับกลาง: อินโดนีเซีย (สิ่งทอ,เครื่องแต่งกายมุสลิม) ตลาดระดับบน: ญี่ปุ่น (ผ้าบาติก,ผ้ามัดย้อม,เคหะสิ่งทอ) 2. กิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ 3. กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม และ 4. กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และงานแสดงสินค้าต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้เน้นเฉพาะตลาดอาเซียน อาทิฮ่องกง สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่ปีนี้สถาบันฯเตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการขยายการผลิตเพื่อส่งออกไปสู่กลุ่มลูกค้าเฉพาะ นอกประเทศในระดับภูมิภาค อาเซียน +3 มากยิ่งขึ้น
จากการเก็บข้อมูลแบบสอบถามผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 300 ชุด กว่า 50% ผู้ประกอบการต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศควบคู่กับการขายในประเทศ โดย 70% ของผู้ประกอบการสนใจตลาดสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนอีก 15% สนใจตลาดบาติกและเคหะสิ่งทอในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ในส่วนของกิจกรรมศึกษาข้อมูลด้านการตลาดในปีนี้ จำเป็นต้องมุ่งดำเนินการค้นคว้าความรู้โดยใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ตลาดเข้ามาช่วยเพื่อทำให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม พัฒนาและผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลที่ทางสถาบันฯ กำหนด 2 ประเทศนี้เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินการ
นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึก ผ่านการค้นคว้าข้อมูลแบบทุติยภูมิ จากงานวิจัยต่างๆ รวมถึงการศึกษาข้อมูลด้านการตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (Market Surveying) โดยการลงพื้นที่เพื่อสำรวจตลาดจริง การเก็บข้อมูลเชิงลึกผ่านการสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และการเก็บแบบสอบถามผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งในประเทศอินโดนีเซียและญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการศึกษาในประเด็นดังนี้ 1) พฤติกรรมการบริโภคโดยทั่วไป 2) ตลาดการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3) ผลการวิเคราะห์แบบสอบถามพฤติกรรมของผู้บริโภค 4) ช่องทางการเข้าถึงตลาด และการเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการไทย และ 5) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งข้อมูลที่ได้เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ประกอบการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
สำหรับแนวทางในการพัฒนาแบรนด์ของผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกร่วมออกงานแสดงสินค้า ทางสถาบันฯ ได้กำหนดจำนวนผู้ประกอบการที่จะได้รับคัดเลือก จำนวน 15 ราย โดยแต่ละรายจะมีได้รับการให้คำปรึกษาเชิงลึกรายกิจการ จำนวน 4 ครั้ง จากนักออกแบบชื่อดัง ในด้านการวิเคราะห์ศักยภาพผู้ประกอบการในด้านการตลาด และวิเคราะห์การพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองกับตลาดเป้าหมาย และการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาสินค้าเป็นคอลเลคชั่น จนพัฒนาเป็นแบบร่างสเก็ตคอลเลคชั่น และได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า ณ ต่างประเทศ โดยการให้คำปรึกษาเชิงลึก จำนวน 4 ครั้งนั้น แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 Market Focus and Brand, ครั้งที่ 2 Key Look and Sketch Design, ครั้งที่ 3 Prototype (3 Products) และครั้งที่ 4 Final Prototype ส่วนแนวทางการต่อยอดแบรนด์ Lawa@THTI ในปีนี้ สถาบันฯ ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลแบรนด์ และกระบวนการผลิต แต่สถาบันฯ ยังคงดูแล และเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแบรนด์ Lawa@THTI เริ่มเป็นที่รู้จัก มีการสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังคงผลักดันให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์ออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศเช่นเดิม โดยมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ทางสถาบันยังคงมีกิจกรรมสนับสนุนในเรื่องของการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการออกแบบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการตลาด อีกทั้งสถาบันฯ ยังได้เพิ่มช่องทางการขายอื่นในประเทศ อาทิ จัดหาบูธขายสินค้าให้ในงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ออกงาน Biff & Bil หรืองานโอท็อปที่จัดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย นายประสงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ภายในกิจกรรม ยังจัดให้มีการนำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการให้คำปรึกษาข้อมูลเชิงลึก Muslim Market Focus โดย นายวิวัฒน์ หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการบรรยายพิเศษ เรื่อง "บทบาทหน้าที่ ของการส่งเสริมการค้าฯ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ" และหัวข้อ "ตลาดอาเซียน โอกาสทางการค้าของไทย : พฤติกรรมของผู้บริโภคตในตลาดญี่ปุ่น / โอกาสของผู้ประกอบการไทย : การแต่งกายของผู้สูงอายุในญี่ปุ่น และ Trend" โดย นางสาวนงเยาว์ ศรีฉันทะมิตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภาคใต้ตอนล่าง (หาดใหญ่)
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทรศัพท์ 02 713 5492 - 9 ต่อ 888