กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--มทร.ธัญบุรี
ด้วยพระอัจฉริยะภาพและให้ความสำคัญด้านวิศวกรรมศาสตร์ และดาราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โครงการออกแบบสร้างกล้องดูดาว ROTAR (โรตาร์) 1 และ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หนึ่งในโครงการตามแนวทางพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า โครงการออกแบบและสร้างกล้องดูดาว ROTAR (โรตาร์) 1 และ 2 ตามแนวทางพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มต้นจากโครงงานของนักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2544 โดยมี ผศ.มนตรี น่วมจิตร์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน และมีนายไกรสีห์ เพ็ชรพรประภาส อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย โดยนายไกรสีห์ เพ็ชรพรประภาส ซึ่งขณะนั้นเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบลิฟท์ให้สำนักพระราชวังอยู่ด้วย เสนอให้ออกแบบและสร้างกล้องดูดาวขนาดใหญ่
การออกแบบเริ่มจากแบบสเก็ตที่อาจารย์ไกรสีห์ เคยเห็นมาจากหอดูดาวทรีบัวในประเทศเยอรมัน เป็นหอดูดาวเอกชนที่ชาวบ้านเมืองนั้นทำกันเอง นักศึกษานำแบบสเก็ตไปเขียนแบบประกอบ และแยกชิ้นส่วน เพื่อนำไปผลิต ตอนสร้างชิ้นส่วนกล้อง ความที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงลองผิดลองถูก ทำแล้วกล้องหมุนไม่ได้ความเร็วท้องฟ้า จึงตามดาวไม่ได้ เพราะคำนวณเฟืองผิด อีกทั้งลูกตุ้มถ่วงจะตีฐานกล้องอยู่ตลอด ต้องแก้แบบกันหลายรอบ เวลาก็กระชั้นเพราะนักศึกษาต้องทำโครงงานให้เสร็จจึงจะสำเร็จการศึกษาได้ ตอนนั้นเกือบจะลดขนาดโครงการจากกล้องดูดาวอัตโนมัติ เป็นกล้องดูดาวมือโยกแล้ว แต่ผศ.มนตรีไม่ยอม บอกว่าทำแล้วต้องทำให้ได้ นักศึกษารุ่นนี้ทำไม่เสร็จก็ให้สอบโครงงานได้ จะขอคณบดีให้ แล้วให้นักศึกษารุ่นต่อไปทำต่อ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในปีเดียว
นายไกรสีห์ เพ็ชรพรประภาส เปิดเผยว่า ได้นำปัญหาโครงงานไปปรึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ความที่กล้องดูดาวใหญ่และหนัก ไม่สามารถยกกล้องไปให้ดูได้ เพราะกล้องหนัก 800 กิโลกรัม จึงนำรูปภาพกล้องที่มีคนยืนอยู่ข้างๆ ไปให้ดู ประโยคแรกที่คุณขวัญแก้วพูดคือ "อาจารย์ทำกล้องขนาดนี้ต้องถวายพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดดาราศาสตร์ ท่านต้องดีพระทัย" จึงได้นำกเรื่องกลับมาเล่าให้ทีมงานฟัง เมื่อทุกคนได้รับฟังเรื่องจึงมีกำลังใจ ที่ต้องทำให้โครงงานให้เสร็จให้ได้ ซึ่งใช้เวลาทำ 2 ปี กล้อง ROTAR 1 จึงเริ่มทดลอง คืนแรกที่คลองหก ส่องดวงจันทร์ เห็นหลุมอุกาบาตรบนผิวดวงจันทร์คมชัดทีมงานดีใจมาก
จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2545 – 2547 ในระหว่างทำโครงงาน 2 ปี ระหว่างนั้นนักศึกษาต้องเรียนปกติ นักศึกษาหนึ่งคนในทีมงานนี้ มีผลการเรียนต่ำน่าเป็นห่วงก็ต้องประคองกันไป (สุดท้ายสำเร็จการศึกษาทุกคน) ในการทำงานกลางวันเป็นนักศึกษาปกติ ตอนดึกเป็นช่างทำกล้อง ต้องเข้าโรงฝึกงานตอนเย็น ทำกันถึงตีสองเป็นปกติ ไม่รู้เอาพลังกันมาจากไหน กล้องดูดาวขนาด 600 มม. ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น หนัก 800 กก. เวลาเคลื่อนย้ายต้องใช้รถเครน วัสดุเป็นของไทยเกือบทั้งหมด ในโรงฝึกงานของราชมงคลมีเครื่องจักรครบ กัดเฟืองยังทำกันเอง มีแต่เลนส์ที่สั่งผลิตจากอเมริกา และมอเตอร์ความละเอียดสูงซื้อมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าถวาย ความก้าวหน้าโครงการ ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อทอดพระเนตรโมเดลแล้ว ทรงมีพระราชปรารภทันทีว่า "กล้องจะหัวขมำ" ทรงรับสั่งว่าพระองค์ท่านเคยทำแบบนี้แล้วที่ดาดฟ้าพระตำหนักเปี่ยมสุข โดยใช้ขาตั้งกล้องแบบ 3 ขาธรรมดา แล้วยกขาหนึ่งขึ้นโดยใช้ก้อนอิฐรอง ให้ได้มุมประมาณเท่ากับละติจูดของอำเภอหัวหิน ทรงเคยถ่ายรูปดาวเสาร์ด้วยกล้องฟิล์มและเลนส์ระยะไกลธรรมดา แต่กว่าจะถ่ายได้ทรงปวดหลังมาก เพราะกล้องหัวจะขมำตลอด รับสั่งว่าตำแหน่งประเทศไทยอยู่ละติจูดต่ำ เพียงสิบกว่าองศา ใช้ฐานกล้องแบบอิเควตอเรียวไม่ได้ ต้องใช้แบบบริติส ซึ่งเมืองไทยยังไม่เคยมี ให้ทีมงานออกแบบมาถวาย
ซึ่งในระหว่างที่ถวายงานอยู่ 45 นาที ทีมงานสงสัยว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงรู้เรื่องการออกแบบกล้องดูดาวได้อย่างไร แต่ไม่มีใครกล้าถาม พระองค์คงจะทรงรู้ว่าทีมงานมีความสงสัยอยู่ จึงรับสั่งว่า "ตอนเป็นเด็กฉันอยากเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ต่อมาจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ" ทีมงานจึงได้น้อมนำพระราชปรารภเรื่องฐานกล้องไปศึกษาต่อ พบว่าฐานกล้องแบบบริติส หรืออิงริช อิเควตอเรียวไม่มีใครใช้แล้ว เพราะประเทศที่อยู่ละติจูดสูงอย่างอเมริกา ยุโรป เขาใช้เยอรมันอิเควตอเรียวได้ หรือถ้าของใหม่เขาจะออกแบบเป็นอัลตาซิมุตกัน (ช่วงหนึ่งที่ถวายงาน พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าอัลตาซิมุตก็ใช้ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะที่จุดซีนิทจะเกิดการงัดกันของแกนสองแกน) เดิมทีสมัยที่อังกฤษมีอาณานิคมอยู่ประเทศแถบละติจูดต่ำ เมื่อสร้างกล้องดูดาวจึงต้องใช้แบบบริติส เท่านั้น เมื่อหมดยุคอาณานิคมจึงไม่มีการพัฒนากล้องดูดาวแบบบริติส กล้องดูดาวแบบบริติสจึงหาของจริงดูยาก จะมีก็แต่รูปภาพ แต่ทีมงานอยากเห็นของจริง
โดยตนเอง ได้สอบถามคุณไมเคิล บาร์เบอร์ เพื่อนชาวอเมริกาที่เป็นนักถ่ายภาพดาวระดับแนวหน้าคนหนึ่ง ลองสืบดูว่าที่อเมริกามีกล้องแบบบริติชแท้ๆให้ดูไหม พบว่ามีอยู่มีหอดูดาวโลเวล รัฐอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเดินทางไปดู ไปถึงหอดูดาวโลเวลแล้วหาฐานกล้องแบบบริติสไม่พบ จึงถามคนดูแล เขาบอกว่าที่นี่มี แต่ไม่ใช้นานแล้ว อยู่อีกหอข้างๆ ที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ เห็นแล้วจึงขอถ่ายภาพ แจ้งเขาว่าจะไปทำถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย ผู้ดูแลดีใจ ให้ถ่ายรูปและวัดขนาดแกนตามสะดวก กล้องตัวนี้เป็นกล้องที่คุณไคลด์ ทอมบาวห์ นักดาราศาตร์ชาวอเมริกาที่ค้นพบดาวพลูโตเมื่อปี ค.ศ.1930
การดำเนินงานโครงการ ROTAR 2 ใช้เวลาทำ 2 ปี แม้จะมีประสบการณ์จากโครงการเดิม แต่ระบบซับซ้อนมากขึ้นทั้งกลไกขับแกนและเลนส์ เลนส์กล้องเป็นแบบริชชี่ เครเตียน ซึ่งดีกว่าแบบนิวโตเนียนในโครงการเดิมมาก ทางทีมงานทำเลนส์เองไม่ได้เช็คราคาแล้ว 5 ล้านกว่าบาท เกินงบไปมาก จึงปรึกษาเพื่อนชาวเยอรมัน เขาให้ไปหาที่แวเฮ้าส์อุปกรณ์ใช้แล้วที่เมืองซอลเลคซิตี้ รัฐยูถ่าห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่ไม่สามารถติดต่อเขาได้ ต้องไปเคาะประตูเท่านั้น ไปรอบแรกเขาบอกว่าสเปคนี้ไม่มี แต่จะหาให้ อีก 3 เดือนเขาแจ้งมาว่ามีแล้ว แกะมาจากกล้องของกองทัพอากาศที่ปลดระวาง ต้องตัดสินใจเร็ว มีคนต้องการมาก เพราะเป็นเลนส์ริชชี่ขนาด 500 มม.ที่มีความหนาถึง 4 นิ้ว แถมเนื้อเลนส์เป็นเซรามิก สภาพดีมาก ราคาหนึ่งล้านบาท จึงเดินทางไปดูอีกรอบ แล้วตกลงซื้อทันที กล้องROTAR 2 เสร็จตามกำหนด ทดสอบที่คลองหก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 กล้องหมุนอัตโนมัติตามดาวได้ห้านาที การปรับละเอียดสามารถทำได้เมื่อติดตั้งกล้องในตำแหน่งถาวรแล้ว ทีมงานคาดว่าเมื่อติดตั้งถาวร กล้องน่าจะตามดาวได้เกินครึ่งชั่วโมง,njvนอัตโนมัติตามดาวได้ห้านสิบหัวรับสั่งว่าอัลตาซิมุตก็
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าให้คณะทำงาน นำโดยรศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ (อธิการบดีในสมัยนั้น) เข้าเฝ้าถวายกล้องดูดาว ROTAR 2 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า "กล้องเสร็จแล้ว" นำความปลาบปลื้มให้ทีมงานอย่างหาที่สุดมิได้ ทีมงานได้รู้ซึ้งถึงคำว่า "หาที่สุดมิได้" ด้วยประสบการณ์ตรงครั้งนี้นี่เอง และทรงมีรับสั่งว่า ให้นำกล้องROTAR 2 ไปติดตั้งที่ดาดฟ้าโรงเรียนวังไกลกังวล ส่วนกล้อง ROTAR 1 ให้ติดตั้งที่ มหาวิทยาลัยราชมงคลเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว่าต่ออีกว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2555 สร้างความปลาบปลื้มมายังชาว มทร.ธัญบุรี เป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน นามหอดูดวงอาทิตย์ให้กับมหาวิทยาลัยฯ โดยใช้นามว่า "หอสุริยทัศน์ราชมงคล" ทั้งยังทรงพระราชทานความหมายว่า "หอเป็นที่ดูดวงอาทิตย์อันเป็นศรีมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งหอดูดวงอาทิตย์แห่งนี้เป็นหอดูพระอาทิตย์คู่กับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนวังไกลกังวล
"นับเป็นบุญของชาวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้ถวายงานสำคัญงานนี้ และได้สัมผัสถึงพระอัฉริยะภาพของ พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยประสบการณ์ตรง" รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี กล่าวทิ้งท้าย