กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--มรภ.สงขลา
คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดโครงการเปิดประตูสู่อาชีพ ไขข้อข้องใจเรียนภาษาไทยทำงานอะไรได้บ้าง เผยผลสำรวจนักศึกษาส่วนใหญ่อยากเป็นครู แต่หลักสูตรไม่เอื้อ ชี้ยังมีอาชีพอื่นอีกหลากหลายให้เลือก
นายกีรกิต จิตสมบูรณ์ อาจารย์โปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้เสนอโครงการเปิดประตูสู่อาชีพ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการสำรวจความต้องการในการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผลการสำรวจพบว่ามีนักศึกษาจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ต้องการประกอบอาชีพเป็นครูผู้สอน ซึ่งไม่ใช่อาชีพหลักที่หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ประสงค์จะให้ประกอบอาชีพในอนาคต เนื่องจากหลักสูตรไม่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาในเนื้อหาเกี่ยวกับการสอน จึงทำให้นักศึกษาขาดความรู้และประสบการณ์ที่จะเป็นครูผู้สอน แต่หลักสูตรมุ่งหวังให้นักศึกษาประกอบอาชีพตามแนวทางของนักมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาทิ นักวิชาการทางภาษาและวรรณคดี นักสื่อสารมวลชน อาชีพเกี่ยวกับหนังสือ อาชีพเกี่ยวกับงานธุรการ เป็นต้น
นายกีรกิต กล่าวว่า สาเหตุที่นักศึกษาต้องการประกอบอาชีพครูผู้สอนภาษาไทยเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากยังไม่เข้าใจและไม่ทราบขอบข่ายงานในศาสตร์แขนงนี้ ทางหลักสูตรจึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเปิดประตูสู่อาชีพ ให้แก่นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาไทย จำนวน 215 คน โดยเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในขอบข่ายงานข้างต้น ร่วมให้ความรู้และบอกเล่าประสบการณ์เพื่อเปิดมุมมองด้านอาชีพให้แก่นักศึกษา พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการ (Workshops) ใน 4 หัวข้อ คือ 1. ฉันคือเบอร์หนึ่งด้านงานธุรการ 2. สักวันฉันจะเป็นนักวิชาการ 3. จบ ศศ.บ. ภาษาไทย เชื่อไหมเป็นครูได้ และ 4. ฉันคือนักสื่อสารมวลชน นอกจากนั้น ทางคณะฯ ยังส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพด้วยตนเอง กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการประกอบอาชีพต่างๆ ในอนาคต