กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--
ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 37/2559 วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคมนี้ สำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ (ทส,) นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบเอฟ.เอ็ม.และร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ระบบ เอฟ.เอ็ม เข้าหารือในบอร์ด เป็นวาระต่อเนื่องจากครั้งที่แล้วหลังจากรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดนส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ มีความสำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเนื่องจากมีระยะเวลาดำเนินการเพียง 5 เดือนเท่านั้น
จากกรอบระยะเวลาแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) กำหนดสิ้นสุดการใช้งานคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงให้มีระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่บังคับใช้ ซึ่งระยะเวลาการสิ้นสุดการใช้งานคลื่นความถี่ตามที่กฎหมายกำหนดคือ วันที่ 3 เมษายน 2560
ที่ผ่านมามีการพิจารณาและตรวจสอบสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ แต่ยังไม่มีการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาปรับปรุงหรือจัดสรรใหม่ ตามนัยมาตรา 82 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดแผนล่วงหน้าในการจัดการคลื่นความถี่เพื่อให้การใช้งานคลื่นความถี่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเรียบร้อย และเพื่อป้องกันปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
"เรื่องแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบเอฟ.เอ็ม. เป็นการมองมิติทางด้านเทคนิคด้านเดียว แต่ไม่ได้มีมิติเรื่องกฎหมาย มิติเรื่องใบอนุญาต และด้านอื่นๆ เช่น ไม่รู้ว่าเมื่อสิ้นสุดการถือครองคลื่น ใครจะเป็นผู้ใช้งานคลื่นนั้นต่อไป สัดส่วนด้านบริการสาธารณะเท่าไหร่ ด้านบริการชุมชนเท่าไหร่ และด้านบริการธุรกิจ เท่าไหร่ รวมถึงระยะเวลาการถือครองนานขนาดไหนด้วย" กสทช.ธวัชชัย กล่าว