กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--WWF -Thailand
องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยรายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559 ระบุ ภายในปี 2563 ประชากรสัตว์ป่าถึง 2 ใน 3 สายพันธุ์ จะสูญพันธุ์ไปจากโลก ซึ่งรวมถึงสัตว์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เช่น โลมาอิรวดีและเสือโคร่ง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างไร้ความรับผิดชอบของมนุษย์ จากข้อมูลยืนยันว่า นับตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2555 มีจำนวนสัตว์ป่าลดลงมากถึง 58% นำมาสู่แนวทางการพัฒนาการใช้พลังงานและการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่า
Stuart Chapman ตัวแทนกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (WWF-Greater Mekong) กล่าวว่า"อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในโลกขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงที่อัตราการสูญพันธุ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ความหลายหลายทางชีวภาพถือเป็นรากฐานของป่าไม้ แม่น้ำ และมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ เร่งเดินทางไปสู่จุดจบของระบบนิเวศ การมีน้ำกินน้ำใช้สะอาด แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ และอากาศบริสุทธิ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์"
อย่างไรก็ตาม ผลจากการเพิ่มมาตรการปราบปรามการบุกรุกป่า และลักลอบค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง มีส่วนช่วยชะลออัตราเร่งของหายนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ที่ประชุมฯ กำหนดเส้นตายให้หลายประเทศทั่วโลกต้องดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไว้ ซึ่งหากทุกชาติสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกัน จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อระบบอาหารและระบบพลังงาน รวมไปถึงช่วยชีวิตสัตว์ป่าจำนวนมหาศาล ยุค "แอนโทรโพซีน" (Anthropocene) – "ไม่มีที่ไหนไม่เปื้อนมือมนุษย์"
ในรายงาน Living Planet Report ของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ใช้ดัชนีชี้วัดจาก Zoological Society of London (ZSL) เพื่อสำรวจจำนวนประชากรสัตว์ป่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากเดิมที่เน้นสำรวจจำนวนประชากรสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้นและลดลงแต่เพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบค้าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการนำมาใช้เป็นของประดับตกแต่ง โดยนักวิจัยเรียกยุคนี้ว่า "แอนโทรโพซีน" (Anthropocene) ซึ่งหมายถึง ยุคที่มนุษย์ได้ทิ้งร่องรอยแห่งความหายนะไว้ให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำอีก จนอาจกล่าวได้ว่า "ไม่มีแห่งหนใดบนโลกที่ไม่เคยเปื้อนมือมนุษย์" ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก จะช่วยให้เราสามารถค้นพบทางออกที่จะหยุดยั้งหายนะที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
การบริโภคอย่างไร้ขีดจำกัด
รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559 ประกอบไปด้วยข้อมูลและผลการศึกษาจากสถาบันชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งทุกแห่งต่างเห็นตรงกันว่า มนุษย์กำลังใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Stockholm Resilience Centre ชี้ให้เห็นว่า มนุษยชาติได้ละเมิด ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundaries) ที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่มาแล้วถึง 4 ใน 9 ข้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมอย่างกะทันหัน
Marco Lambertini ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund - WWF) กล่าวว่า "ไม่ว่าคุณจะคิดคำนวณอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย ยิ่งเรายังใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดมากเท่าใด เราก็ยิ่งสร้างความเสียหายให้อนาคตของเรามากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ เรามีสิทธิ์เลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตอาหาร การใช้พลังงาน และการลงทุนเพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม
แนวทางการแก้ไขในอนาคต
รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559 ขององค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เสนอร่างทางออกเพื่อการปฏิรูปแนวทางการผลิตและการบริโภคที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการพลังงานและการลงทุนแบบยั่งยืน รวมไปถึงการคิดทบทวนเกี่ยวกับการผลิต การบริโภค การประเมินความสำเร็จและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ ทางสังคมไม่ว่าจะเป็น ปัจเจกบุคคล ภาคธุรกิจ และภาครัฐ
ทั้งนี้ สัญญาณบวกอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง คือ ข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ใช้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) เป็นแนวทางหลักในการทำงาน เพื่อเป็นหลักประกันว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะได้รับการขับเคลื่อนไปพร้อมกับประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม
รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559: ความเสี่ยงและการสร้างความมั่นคงยุคใหม่ เป็นรายงานฉบับที่ 11 ขององค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจจำนวนประชากรสิ่งมีชีวิตมากกว่า 14,000 ชนิด จาก 3,700 สายพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2513 ถึงปี 2555
หมายเหตุ: ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559 ได้ที่ http://www.panda.org/lpr_mekong_2016 สำหรับภาษาไทย จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบอีกครั้ง