สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ในปี 2543

ข่าวทั่วไป Thursday January 25, 2001 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
ตลาดตราสารหนี้ยังคงเติบโตอย่างมั่นคง มูลค่าคงค้างในศูนย์ซื้อขายฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในขณะที่ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันคึกคักเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็นวันละ 5,494 ล้านบาทจากเพียงวันละ 1,760 ล้านบาทในปี 2542
มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ที่จดทะเบียนในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปี 2543 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,269,567.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปีที่ผ่านมา โดยตราสารหนี้ภาครัฐยังคงมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 83.5 ในขณะที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 16.5 จากร้อยละ 16.2 ในปี 2542 สำหรับธุรกรรมการค้าตราสารหนี้ในตลาดรองเป็นไปอย่างคึกคักนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี ปริมาณซื้อขายมีจำนวนทั้งสิ้น 1,357,121 ล้านบาทเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2542 ที่มีจำนวนเพียง 431,197 ล้านบาท โดยคิดเป็นปริมาณซื้อขายเฉลี่ยวันละ 5,494 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 212 จากวันละ 1,760 ล้านบาทในปี 2542
สภาพคล่องการซื้อขายตราสารหนี้ในปี 2543 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อวัดจากอัตราการหมุนเวียนการซื้อขายตราสารหนี้ (Turnover ratio) ที่คำนวณจากปริมาณการค้าทั้งสิ้นเทียบกับยอดคงค้างของตราสารหนี้ ณ สิ้นงวด อัตราการหมุนเวียนการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 107 เทียบกับอัตราร้อยละ 39 ของปีที่ผ่านมา โดยมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นตราสารที่มีอัตราการหมุนเวียนสูงสุดที่ร้อยละ 165 พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราหมุนเวียนต่ำกว่าที่ร้อยละ 51 และ 35 ตามลำดับ สำหรับตราสารที่มีสภาพคล่องสูงสุดคือพันธบัตรรัฐบาลอายุ 8 ปี LB08DA มีอัตราหมุนเวียนร้อยละ 422 โดยมีปริมาณการซื้อขายรวมเท่ากับ 4.2 เท่าของยอดคงค้างของพันธบัตร
ธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ที่เป็นไปอย่างหนาแน่นในปีที่ผ่านนั้น เป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งสนับสนุนการขยายตัวของตลาดตราสารหนี้ ได้แก่ ผลตอบแทนการลงทุนที่อยู่ในอัตราสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลซึ่งไม่มีความเสี่ยงด้าน Credit risk ในปี 2543 สูงถึงร้อยละ 14.3 เมื่อคำนวณจากดัชนีผลตอบแทนโดยรวมของพันธบัตรรัฐบาล (Total Return of TBDC Government Bond Index) ทั้งนี้ เป็นผลจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยในปี 2543 ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มสูงขึ้นของราคาพันธบัตรเป็นอย่างมาก ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ได้รับทั้งผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหน้าตั๋วและกำไรส่วนเกินทุน(capital gain) และจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและการคาดการณ์ในระหว่างปีทำให้นักลงทุนสถาบันดำเนินกลยุทธปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของตนในแต่ละช่วงเวลา ทำให้มีส่วนช่วยให้ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้เพิ่มขึ้นในปี 2543
ปัจจัยต่อมาเป็นเรื่องของความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนประเภทต่างๆโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบริษัทประกันภัย โดยนักลงทุนดังกล่าวได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้โดยเฉพาะพันธบัตรภาครัฐจากเพียงร้อยละ 7 ในปี 2540 เป็นร้อยละ 19 ในเดือนมิถุนายน 2543 สำหรับบทบาทในการซื้อขายตราสารหนี้ในปี 2543 กองทุน กบข และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสัดส่วนในปริมาณการซื้อขายรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.6 เทียบกับเพียงร้อยละ 7.0 ของปีที่ผ่านมา
ปัจจัยบวกต่อตลาดตราสารหนี้อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือปริมาณการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทั้งของภาครัฐ และเอกชนที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณคงค้างของตราสารหนี้เพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการที่สำคัญของตราสารหนี้ภาครัฐที่ริเริ่มหลักการการออกตราสารให้มีขนาดใหญ่โดยการ re-open พันธบัตรบางรุ่น และการออกตารางการประมูลล่วงหน้าของตั๋วเงินคลัง ทั้งนี้เป็นผลดีต่อตลาดในการสร้างเสถียรภาพและสภาพคล่อง
สำหรับปริมาณการออกและเสนอขายตราสารหนี้ในตลาดแรกของปี 2543 มีจำนวนทั้งสิ้น 378,805 ล้านบาทลดลงจาก 743,276 ล้านบาทในปี 2542 โดยเป็นการลดลงในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดทุนของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน พันธบัตรรัฐบาลที่ออกเป็นไปเพื่อทดแทนรุ่นเดิมและเพื่อชดเชยภาระการขาดดุลงบประมาณจำนวน110,000 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับตราสารหนี้เอกชนที่ลดลงเนื่องจากเป็นการออกตราสารของบริษัทขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่และ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ออกโดยภาคธนาคารได้ลดลงเป็นอย่างมากโดยมีการเสนอขายเพียงรายเดียว พันธบัตรรัฐวิสาหกิจเป็นกลุ่มที่มีจำนวนตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการหันมาใช้เงินทุนในประเทศเพื่อใช้ลดภาระหนี้ต่างประเทศ และเป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานในโครงการต่างๆ
โดยสรุปยอดคงค้างตราสารหนี้ในตลาดแรกปี 2543 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,634,826 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 30.1 ของปีที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 11.5 เมื่อสิ้นปี 2540 ที่เป็นปีแรกของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ ตลาดตราสารหนี้ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและด้วยความมั่นคงเเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของภาครัฐและภาคเอกชน--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ