กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากของพระองค์เอง อันเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในด้านทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เพื่อประโยชน์ของภาคการเกษตรไทยซึ่งเป็นอาชีพหลักของพสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ในอดีต
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีรากฐานทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณสนองงานด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จมายังแม่โจ้ และได้สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง และโครงการในพระองค์อีกหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านการเกษตร สืบเนื่องเรื่อยมาดังนี้
· เสด็จพระราชดำเนินมาแม่โจ้เป็นครั้งแรก
นับตั้งแต่องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ได้เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ โดยอาศัยรูปแบบของ FFA จากประเทศสหรัฐอเมริกาผสมผสานกับ FFP ของประเทศฟิลิปปินส์ และได้เจริญรุดหน้าเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการของ อกท.หน่วยแม่โจ้ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งได้รับความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๖ นับเป็นวันมหามงคลยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรม อกท. หน่วยแม่โจ้ ทรงมีพระราชดำรัสแก่นักศึกษาและคณาจารย์ เป็นครั้งแรกที่แม่โจ้ โดยมีอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย นำคณะนักศึกษา เฝ้ารับเสด็จด้วยความปลื้มปิติ จึงถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวแม่โจ้
· แม่โจ้ กับ โครงการหลวง
ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดฯ ให้คณาจารย์จาก ๓ สถาบันการศึกษา ซึ่งรวมถึงคณาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) ออกไปส่งเสริมอาชีพชาวเขาหมู่บ้านต่าง ๆ ในถิ่นทุรกันดารหลายแห่ง เรียกชื่อในสมัยนั้นว่า โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา โดยแต่ละสถาบันต้องรับผิดชอบหมู่บ้านที่เข้าไปพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ซึ่งอาจารย์จากแม่โจ้ก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันออกไปปฏิบัติงานติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยค้นคว้าร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงหลายส่วน และมีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบงานส่งเสริม จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ นอกจากนั้น ยังมีศิษย์เก่าแม่โจ้กระจายตัวถวายงานในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ทั้ง ๓๘ แห่ง ในพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคเหนืออีกด้วย ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวแม่โจ้ที่ได้ผลิตบัณฑิตคนเกษตรแม่โจ้ สนองงานในพระองค์ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง
· โครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยฯ หาลู่ทางเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาต้นน้ำห้วยแม่โจ้และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่ราษฎร ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการสนองพระราชประสงค์ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโจ้ และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นบริเวณต้นน้ำ และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้อธิการบดี
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำแปลงปลูกไม้ใช้สอยสำหรับหมู่บ้านบ้านโปงและหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนส่งเสริมบริการด้านการเพาะปลูกพร้อมทั้งพัฒนาอาชีพ และในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร โครงการพระราชดำริบ้านโปง ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโจ้ โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยคณาจารย์ นักศึกษาช่วยกันดูแลรักษาและให้ปลูกไม้โตเร็วเพิ่มเติม ดังนั้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ ศึกษาและพัฒนาป่าบ้านโปงขึ้น เนื้อที่ ๓,๖๘๖ไร่ และเนื้อที่ ๙๐๗ ไร่ โดยได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้(เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศึกษาวิจัย ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ)
เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกครั้ง และได้เสด็จฯไปอ่างเก็บน้ำ ทอดพระเนตรสภาพน้ำและสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าสันทราย พื้นที่โครงการพัฒนาบ้านโปงฯ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งผลให้ในปัจจุบันป่าบ้านโปงเป็นป่าใกล้เมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของชาวเชียงใหม่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูแลร่วมกับชุมชน
· ทรงประกาศเกษตรทฤษฎีใหม่ครั้งแรกที่แม่โจ้
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกาศเกษตรทฤษฎีใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย ณ อาคารแผ่พืชน์ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ความว่า "ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีปฏิบัติการเกษตรอีกแนวทางหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย มีหลักสำคัญอยู่ว่า แต่ละแปลงจะแบ่งออกเป็นส่วน สมมติว่าแปลงหนึ่งมี ๑๕ ไร่ จะปลูกข้าว ๕ ไร่ ปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผักสวนครัว ๕ ไร่ ขุดสระน้ำ ๓ ไร่ ปลูกที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ อีก ๒ ไร่ วิธีนี้ได้ทดลองปฏิบัติขั้นแรกมานานพอสมควร และได้ผลดีที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ในขั้นที่สองก็จะต้องรวมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิและเอกชนเพื่อช่วยเหลือในด้านการผลิต การตลาด และในขั้นที่สามจะต้องร่วมมือกับสถาบันการเงินและการพลังงานเพื่อช่วยเหลือด้านการจัดตั้งและบริหารโรงสี ร้านสหกรณ์ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุน" มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้สนองพระบรมราโชวาทจึงได้ตั้งฐานเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ ขึ้น และดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อยมา
· แม่โจ้เปิดการสอนหลักสูตรศาสตร์ของพระราชา "การพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่ใช้ แนวคิดอันเหมาะสมและสอดคล้องกับภูมิสังคม ซึ่งทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานความคิดเรื่องความพอเพียง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการสนับสนุนของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศอีกหลายท่าน จึงได้จัดการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรอบรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้สังคมเรียนรู้พระราชปรัชญา แนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวที่เปิดหลักสูตรที่น้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์ของพระราชาอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งหลายประการที่ยกมานี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขอประกาศเจตนารมณ์อันมุ่งมั่น เพื่อสืบสานปณิธานของพระองค์ท่าน กษัตริย์นักเกษตรของปวงชนชาวไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
ปวงข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้