กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--Image Solution
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 9 เดือนแรกของปี 2559 มีการขยายตัวร้อยละ 0.06 ส่วน MPIเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.6โดยมีอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เป็นบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศSemiconductor & IC เครื่องใช้ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษ กระดาษและกระดาษแข็ง
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 9 เดือนแรกของปี 2559 มีการขยายตัวร้อยละ 0.06 ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 3/2559 หดตัวร้อยละ 0.5 แต่ทั้งนี้ในส่วนของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในภาพรวมของเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2559 เป็นบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ Semiconductor & IC เครื่องใช้ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษ กระดาษและกระดาษแข็ง
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลติอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่
เครื่องประดับ การผลิตเดือนกันยายน 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.46 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลมาจาก เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มปรับตัวดีขึ้น มีการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น
เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตคอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยล์ยูนิตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้า Monolithic IC และ Other IC เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
เครื่องใช้ในบ้านเรือน การผลิตเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทพัดลมตามบ้าน เครื่องซักผ้า และเตาอบไมโครเวฟ เนื่องจากมีการขยายไลน์การผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ
เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง การผลิตเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภท กระดาษพิมพ์เขียน
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ การผลิตเดือนกันยายนลดลงร้อยละ 9.54 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับการปรับโฉมรถรุ่นใหม่
เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) การผลิตเดือนกันยายนลดลงร้อยละ 8.28 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการประสบภาวะซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง
อุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2559 ได้แก่
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 3/2559 การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ตามลำดับ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการ IC ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น
อุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาส 3/2559 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 เนื่องจากสินค้าสำคัญ เช่น ข้าวและธัญพืชจากการวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น สินค้าผักและผลไม้จากการผลิตน้ำผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลงในไตรมาส 3/2559 ได้แก่
อุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาส 3/2559 มีการผลิตรถยนต์ประมาณ 483,356 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 2.65 โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 193,309 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.65 และเป็น การส่งออก 305,903 คัน ลดลงร้อยละ 7.10
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ในไตรมาส 3/2559 การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ0.78 โดยการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.95 ส่วนการผลิตในส่วนเหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 9.62