กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· ความร่วมมือกันจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC มีความไม่แน่นอนสูงหลังอิรักแสดงท่าทีขอยกเว้น (เช่นเดียวกับอิหร่าน ลิเบียและไนจีเรีย) เพราะต้องหารายได้จากการขายน้ำมัน เพื่อต่อสู้กับกลุ่ม IS ขณะกลุ่ม OPEC และ non-OPEC (ประกอบด้วย อาเซอร์ไบจาน บราซิล คาซัคสถาน เม็กซิโก โอมานและรัสเซีย) มีการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่สามารถตกลงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่แต่ละประเทศจะปรับลดลง ซึ่ง OPEC จะประชุมเพื่อหาข้อสรุปประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย. 59 ก่อนการประชุมสามัญวันที่ 30 พ.ย. 59
· บริษัท Royal Dutch Shell ในไนจีเรีย เริ่มส่งออกน้ำมันดิบจากท่าส่งออก Forcados (400,000บาร์เรลต่อวัน) ซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันที่เสียหายจากการก่อการร้ายแล้วเสร็จ อนึ่ง ไนจีเรียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. 59
เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· แหล่ง Buzzard ของอังกฤษ (กำลังการผลิต 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ในทะเลเหนือ กลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 140,000 บาร์เรลต่อวัน หลังปิดซ่อมบำรุงนาน 1 เดือน
· ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน หลัง ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขาชิคาโก นาย Charles Evans เห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปัจจุบันถึงปลายปี พ.ศ. 2560
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ต.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 27,653 สัญญา มาอยู่ที่ 268,978 สัญญา และเป็นการลดลงครั้งแรกหลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ ก่อน 2 แท่น (ลดลงเป็นสัปดาห์แรกหลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 17 สัปดาห์) มาอยู่ที่ 441 แท่น Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 21 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 468.2 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7
· กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของจีน เดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4 % และ เพิ่มขึ้นจากปี ก่อน 18.3 % มาอยู่ที่ระดับ 8.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณนำเข้าช่วง ม.ค.-ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.6 % อยู่ที่ 7.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบทั้ง ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดวันศุกร์ต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งคู่ หลังนักลงทุนลดความเป็นไปได้ที่กลุ่ม OPEC จะสามารถบรรลุการลดกำลังการผลิตตามมติการประชุมในเดือน ก.ย. 59 ที่ผ่านมา ล่าสุดในการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียผู้ผลิตกลุ่ม OPEC ยังไม่สามารถตกลงรายละเอียดในการลดกำลังการผลิตได้ อีกทั้งผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC ที่เข้าร่วมการประชุม (ประกอบด้วย อาเซอร์ไบจาน บราซิล คาซัคสถาน เม็กซิโก โอมาน และรัสเซีย) ไม่แสดงความประสงค์ที่จะร่วมมือลดกำลังการผลิตอย่างชัดเจน และจะมีการประชุมร่วมอีกครั้งก่อนหน้าการประชุมสามัญของกลุ่ม OPEC ในวันที่ 30 พ.ย. 59 หากการประชุมดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ราคาน้ำมันดิบอาจลดลงในช่วงปลายปี เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้น 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้ผลิตยังคงเตรียมตัวรับมือกับราคาน้ำมันดิบในระดับต่ำต่อเนื่องในปีหน้า ล่าสุดสำนักรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้อนุมัติงบประมาณรัฐบาล (Federal Budget) สำหรับปี พ.ศ.2560 ที่ 4.87 หมื่นล้านเดอร์แฮม (1.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ใกล้เคียงงบประมาณเดิมในปีนี้ที่ 4.86 หมื่นล้านเดอร์แฮม ให้จับตามองรายงานสถานะการคือครองสุทธิของราคาน้ำมันดิบ Brent ในตลาด ICE ที่ลอนดอนในวันพรุ่งนี้ หากลดลงเช่นเดียวกับน้ำมันดิบ WTI แสดงว่าราคาน้ำมันอาจหมดแรงขับเคลื่อนและมีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวลดลงในช่วงเดือน พ.ย. 59 นี้ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48-52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI ที่ 47-51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ ดูไบที่ 46-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เดือน ก.ย. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.3 ล้านบาร์เรล เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทำให้อุปสงค์น้ำมันเบนซินเติบโต ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.21 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.65 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล หรือ 1.6 % อยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ PAJ เริ่มเก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2546 อย่างไรก็ตาม Platts คาดปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนในช่วงไตรมาสที่ 4/59 จะอยู่ในระดับสูงจากโรงกลั่นกลับมาดำเนินการหลังปิดซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ ทั้งนี้ มีรายงานเรือขนส่ง Mixed Aromatic ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตน้ำมันเบนซินจำนวนมากจากยุโรปไปยังจีน และโรงกลั่นน้ำมัน S-Oil (กำลังการกลั่น 669,000บาร์เรลต่อวัน) ของเกาหลีใต้มีแผนกลับมาดำเนินการหน่วย RFCC (กำลังการกลั่น 73,000 บาร์เรลต่อวัน) กลางเดือน พ.ย. 59 หลังจากปิดซ่อมบำรุง และ Upgrade โรงกลั่นซึ่งทำให้กำลังการผลิตน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น3% สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าวกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซล ของจีน เดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.8% มาอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดในจีนตอนใต้ Maoming Petrochemical (กำลังการกลั่น 270,000 บาร์เรลต่อวัน) ผลิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นโดยเผยสัดส่วนการผลิตน้ำมันเบนซินต่อน้ำมันดีเซล ช่วงเดือน ม.ค.– ก.ย. 59 อยู่ 1:1 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ Platts รายงานอุปทานน้ำมันอากาศยานและน้ำมันทำความอบอุ่นในเอเชียล้นตลาด ขณะที่ค่าจ้างเรือขนส่ง (Freight rate) ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ Arbitrage ไปภูมิภาคอื่นปิด ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.15 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.05 ล้านบาร์เรล และPAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 22 ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 370,000 บาร์เรล หรือ 4.1 % อยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เดือน ก.ย. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.5 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจแข็งแรง บริษัทน้ำมันแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korea National Oil Corp.) รายงานความต้องการน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.95% มาอยู่ที่ 13.78 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบน้ำมันดีเซล59-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล