กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--NBTC Rights
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 26/2559 วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีวาระที่น่าจับตาคือ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ขอทบทวนมติที่ กทค. เคยเห็นชอบแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทฯ ไปแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 และอีกเรื่องหนึ่งที่น่าใจคือ ข้อเสนอของ Thailand MVNO Club ที่ต้องการให้สำนักงาน กสทช. ทบทวนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบริการโทรคมนาคมแบบโครงข่ายเสมือน (MVNO)
วาระ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ขอทบทวนมติ กทค. เรื่องแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. มีมติครั้งที่ 18/2559 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เห็นชอบแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค โดยให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น คือ 1) ผู้พิการทุกประเภทที่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สามารถเลือกใช้โปรโมชั่นได้ทุกแพ็กเกจโดยมีอัตราค่าบริการถูกกว่าปกติอย่างน้อย 10% และมีค่า Fair Usage Policy (FUP) ไม่น้อยกว่า 1 Mbps 2) บริษัทฯ ต้องมีมาตรการรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อย่างน้อยครอบคลุมถึงแบตเตอรี่และตัวเครื่องที่ผู้บริโภคซื้อไปจากบริษัท เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต เป็นต้น 3) เป็นเรื่อง SMS รบกวน โดยบริษัทฯ ต้องมีระบบยืนยันการแจ้งความประสงค์ก่อนเปิดใช้บริการจาก Content Provider หากผู้ใช้บริการไม่ได้สมัคร ให้ถือว่าไม่ประสงค์รับข้อความใดๆ ถ้ามีการส่งข้อความมา บริษัทฯ ต้องร่วมดำเนินการปิดกั้น 4) ให้ทบทวนปรับปรุงแผนทุกปีในช่วง 3 ปีแรก และหลังจากนั้นปรับปรุงทุกๆ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค มีหนังสือขอให้ทบทวนมติ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้พิการ โดยอ้างเหตุผลว่า ทุกวันนี้บริษัทฯ มีแพ็กเกจราคาถูกสำหรับผู้พิการอยู่แล้ว เช่นค่าบริการเริ่มต้นเหมาจ่าย 99 บาท ซึ่งเป็นอัตราราคาที่ถูกกว่าปกติมากกว่า 30% อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรการดังกล่าว
อันที่จริงเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้พิการนั้น เดิมสำนักงาน กสทช. เคยประชุมหารือร่วมกับผู้พิการทุกประเภทเพื่อทราบความต้องการ พบว่าผู้พิการมีความต้องการไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป กล่าวคือ มีความต้องการใช้แตกต่างกันไปตามรายได้หรือฐานะ ดังนั้นการกำหนดแพ็กเกจเฉพาะสำหรับผู้พิการอาจกลายเป็นการจำกัดทางเลือกและไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังเคยจัดประชุมเรื่องนี้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800MHz และ 900 MHz ซึ่งในครั้งนั้น บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม มีเพียงผู้แทนจาก บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น เข้าร่วม ซึ่งก็มีความเห็นสอดคล้องกับการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับผู้พิการลดลงอย่างน้อย 10% จากราคาแพ็กเกจปกติ และไม่จำกัดหากผู้ให้บริการมีแพ็กเกจที่ราคาถูกกว่านั้น นั่นหมายความว่า บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ก็ยังสามารถมีแพ็กเกจสำหรับผู้พิการเป็นทางเลือกควบคู่กันได้ กทค. จึงไม่น่าจะมีเหตุต้องทบทวนมติ เนื่องจากก่อนหน้านี้ กทค. ก็ได้ให้ความเห็นชอบแผนความรับผิดชอบต่อสังคมของ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ และตั้งเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันนี้ไปแล้ว จึงเป็นมาตรฐานที่ใช้ปฏิบัติโดยถ้วนหน้า
วาระข้อเสนอของ Thailand MVNO Club
วาระนี้เป็นเรื่องที่ Thailand MVNO Club มีหนังสือลงวันที่ 8 มีนาคม 2559 ขอให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรคมนาคมแบบโครงข่ายเสมือน (MVMO) ใน 4 ประเด็น คือ
1) เสนอขอรับจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมครั้งแรกได้ไม่เกินจำนวน 1 ล้านเลขหมาย และในการขอรับจัดสรรเลขหมายเพิ่มเติมจากครั้งแรก ไม่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ต้องใช้เลขหมายโทรคมนาคมไปแล้วไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนที่ได้รับการจัดสรรไปแล้ว เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนด การขอรับจัดสรรเลขหมายครั้งแรกได้ไม่เกิน 200,000 เลขหมายนั้น ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ในช่วงแรก อีกทั้งต้องนำซิมการ์ดและเลขหมายโทรคมนาคมจำหน่ายสู่ร้านค้าและช่องทางต่างๆ ก่อน หากรอให้มีการใช้เลขหมายไปไม่น้อยกว่า 70% แล้วมายื่นขอรับการจัดสรรเพิ่มเติม ก็จะมีปัญหาทำให้ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง และสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
2) เสนอขอให้ปรับลดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม หรือปรับโครงสร้างการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการ MVNO เนื่องจากอัตราที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ให้บริการ MVNO ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายเล็ก มีต้นทุนในการดำเนินการสูง และเสียเปรียบผู้ให้บริการรายใหญ่ เพราะมีฐานลูกค้าไม่มาก
3) เสนอให้การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีลักษณะเป็นขั้นบันไดเพิ่มมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้ให้บริการรายเล็กมีต้นทุนการดำเนินงานลดลง และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ให้บริการรายใหม่
4) เสนอให้สำนักงาน กสทช. ตั้งทีมปฏิบัติงานเพื่อดูแลการประกอบธุรกิจให้บริการ MVNO เป็นการเฉพาะ เพื่อให้คำแนะนำและเป็นช่องทางในการรับฟังปัญหา
วาระนี้นับว่าน่าสนใจทีเดียวว่า กทค. จะมีนโยบายต่อข้อเสนอของกลุ่มผู้ให้บริการที่เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือนเหล่านี้อย่างไร เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในระยะยาว ผลดีส่วนหนึ่งจะตกกับผู้ใช้บริการที่มีทางเลือกมากขึ้น และการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็จะทำให้อัตราค่าบริการลดลง