กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์
จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในรอบปีผ่านมา ส่งผลต่อทิศทาง และการขับเคลื่อนของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ในสายงานผลิตและส่งออก (Manufacturing & Logistics) แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จึงจัดทำผลสำรวจล่าสุด "ทิศทางตลาดแรงงาน" พร้อมเปิดแผนงานทิศทางการรุกตลาดในฐานะผู้นำด้านการจัดหาบุคลากรเชิงนวัตกรรมระดับโลก ประจำปี 2559 เพื่อเป็นแนวทางช่วยลดช่องว่างทั้งอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของตลาดแรงงานในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจในประเทศในการเตรียมพร้อมรับมือไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะนำพาประเทศก้าวสู่โมเดล "ประเทศไทย 4.0" หรือ "ไทยแลนด์ 4.0" มาใช้ เพื่อผลักดันประเทศให้หลุดพ้นกับดัก 3 กับดักที่กำลังเผชิญ คือ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง, กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อนำประเทศมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการลงทุนต่างประเทศ มีการลงทุนการวิจัยและพัฒนาตัวเองน้อยมาก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาคน สร้างการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ไทยสามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าพอที่จะถอดกับดักจากการดึงเงินลงทุนต่างประเทศ เอาเทคโนโลยีของต่างชาติมา และต้องยืนอยู่บนขาตัวเองในระดับหนึ่ง ซึ่งโมเดลนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ที่แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะส่งผลกระทบต่อแรงงานหรือไม่ เมื่อมีการเลิกจ้างแรงงานกลุ่มลูกจ้างเหมาค่าแรงในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม ทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการมีงานทำ และในอนาคต หากกล่าวว่าอุตสาหกรรมไทยยังขาดแรงงานจำนวนมากจนต้องนำเครื่องจักรมาทำงานแทนซึ่งตนมองว่า ไม่จริง เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่ตกงานหากดูจากตัวเลข และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการทางการเงิน ในหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งเหตุเหล่านี้ มีผลกระทบต่อธุรกิจภาคอุตสาหกรรมจนเกิดการชะลอตัวทั้งในส่วนของกลุ่มสายงานการผลิตและส่งออก
ในส่วนของสายการผลิต (Manufacturing) ผลกระทบทางเศรษฐกิจต้องยอมรับว่า มีผลกระทบมาก หากมองในภาพรวม อาทิ การรับงานเป็นโปรเจค หรือออเดอร์แบบชั่วคราวโดยมีอัตราที่ลดลง ทั้งสายการผลิตยานยนต์ที่เกิดการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านการผลิตอันเนื่องจากอยู่ในช่วงวางแผนทิศทางด้านการประหยัดพลังงานสู่ความเป็น Green Car ทั้งรถยนต์ไฮบริด (HV), รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHV) และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะกลายเป็นตลาดยานยนต์สำหรับเจเนอเรชั่นต่อไป อีกทั้งมองจากภาพรวมของการส่งออก เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศน้อยลงและอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงชะลอตัว จนส่งผลให้พนักงาน สัญญาจ้าง (outsource) มีการลดจำนวนลงหรือถูกลดโอทีในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตั้งแต่ 1ม.ค. 2560 เป็นต้นไป มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 5-10 บาท ใน 69 จังหวัด ส่วนอีก 8 จังหวัดไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างยังคงใช้อัตราเดิม (จากค่าแรงเดิมที่ 300 บาท) ด้านแรงงานต่างด้าวในกลุ่มนี้เริ่มมีลดน้อยลง เนื่องจากมี พรบ.ออกมาคุ้มครองสิทธิของคนไทย โดยมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม ในส่วนของพนักงานประจำในสายงานผลิต ได้แก่ วิศวกรในสายการผลิต พนักงานบัญชี พนักงานฝ่ายผลิต ธุรการ ล่ามแปลภาษา ล้วนแต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง และความเชี่ยวชาญทางภาษา จึงทำให้กลุ่มพนักงานประจำในสายการผลิตยังคงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง
งานระบบการจัดการขนส่งสินค้า (Logistics) ต้องยอมรับว่าได้ผลกระทบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการจัดเก็บสินค้า แต่ด้วยจะใกล้เข้าช่วงเทศกาลปีใหม่จึงทำให้สายงานในกลุ่มนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากต้องมีการนำเข้าส่งออกของขวัญ ผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็อาจจะเบาลงในช่วงกลางปี ทั้งนี้อาจจะส่งผลเพียงเล็กน้อย เพราะกลุ่มงานโลจิสติกส์ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนจากต่างชาติทั้ง ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการจัดการที่ดีมีความเป็นมืออาชีพ อีกทั้งแรงผลักดันของรัฐบาลที่จะทำให้ไทยเป็น Logistics Hub คนที่สนใจอยากทำงานในสายอาชีพนี้ อาจจะต้องเรียนในด้าน โลจิสติกส์โดยเฉพาะ แต่สายอื่นก็สามารถทำได้ เช่น ท่องเที่ยวที่ต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ หรือจบทางด้านภาษามาโดยตรงก็สามารถทำได้ เพียงแต่คุณต้องมีทักษะ ประสบการณ์ ความรับผิดชอบสูง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รวดเร็ว และภาษาที่ใช้อาจไม่ใช่แค่ 2 ภาษา ส่วนใหญ่การรับคนเข้าทำงานในส่วนของงานธุรการคลังสินค้าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งสามารถเข้าทำงานในส่วนของการจัดซื้อ หรือSupply Chainได้เลย แต่ข้อเสียของกลุ่มสายงานนี้คือ เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานเป็นกะ แต่หากมองในมุมมองของอนาคตต้องยอมรับมีโอกาสก้าวหน้าสูง
แต่จากปี 2559 ที่ผ่านมา จะเห็นการย้ายฐานการผลิตในประเทศ ได้กลับมีกลุ่มภาคอุตสาหกรรมหน้าใหม่เข้ามาทดแทน อาทิ จีน สิงคโปร์ ดังนั้นจากเสียงสะท้อนของภาคอุตสาหกรรมปีนี้ถึงปีหน้า กลุ่มสายงานด้านโลจิสติกส์ยังเป็นที่ต้องการ และจากที่สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตจบใหม่ยังไม่เพียงพอกับตลาดแรงงาน
แม้ว่า ในส่วนของภาคการผลิตบางส่วนที่เกิดการชะลอตัวไม่ได้ส่งผลมากนัก เนื่องจาก ยังคงมีความต่อเนื่องแม้ชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ตลาดแรงงานยังผันผวนกับด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกอย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ยังคงต้องการบุคลากร แรงงานคุณภาพ ทักษะเฉพาะเป็นเรื่องสำคัญมั่นใจได้ว่าอัตราการปลดพนักงานออกภายในช่วงปลายปีนี้ต้องบอกเลยว่าไม่มีอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่มีการขยายตัวธุรกิจ ไม่มีการรับพนักงานเพิ่ม มีแต่การทดแทนพนักงานที่ออก ทั้งในส่วนของพนักงานสัญญาจ้างและพนักงานประจำ อีกทั้งตอนนี้ ยังมีนักลงทุนหน้าใหม่จากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศที่เข้ามาลงทุนอยู่ก่อนแล้วอย่างญี่ปุ่น ดังนั้น ภายในปีหน้าเศรษฐกิจประเทศไทยอาจมีการปรับตัวที่ดีขึ้น และด้วยมุมมอง งานด้านสายการผลิตในกลุ่มวิชาชีพและโลจิสติกส์ เรื่องภาษาถือว่าเป็นอันดับ 1 ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม ในปัจจุบันภาษาที่ 2 ไม่เพียงพอ ต้องมีทักษะภาษา 3 ทักษะการทำงานรอบด้าน หรือ Multi Skill ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะไม่มีองค์กรไหน ที่จ้างคนหนึ่งคนและให้ทำงานอย่างเดียว ข้อดีคือ เป็นการพัฒนาฝีมือในหลายๆ ด้าน เพื่อความเติบโตในสายอาชีพนั้นๆ เพราะในปัจจุบันนี้โลกมีการหมุนไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันด้านศักยภาพแรงงานเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งทุกองค์กรมองข้ามเรื่องทุนมนุษย์ไม่ได้เช่นกัน สุธิดากล่าวสรุป