กทม.เดินหน้าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเตรียมเจรจา สจร.

ข่าวทั่วไป Thursday August 10, 2000 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. เดินหน้าต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้า กทม. ๓ สายไปสมุทรปราการ สมุทรสาครและปทุมธานี หวังดึงผู้โดยสาร ๑ ล้านคนต่อวัน เจรจากับเจ้าหนี้บีทีเอสแล้วเห็นชอบด้วย เตรียมประสาน สจร. ขออนุมัติเส้นทาง
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า กทม. ว่า จะไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) เพื่อเสนอแนวคิด แนวเส้นทางก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า กทม. ทั้ง ๓ สายสายที่ ๑ จากหมอชิต ต่อขยายไปทางคลองสามเสน คลอง บางซื่อ คลองลาดพร้าว ผ่านตลาดยิ่งเจริญ คลองถนน ผ่านถนนสายไหม ออกกิโลเมตร ๒๕ ไปตามถนนลำลูกกาสิ้นสุดที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี สายที่ ๒จากอ่อนนุช ไปตามถนนสุขุมวิท ผ่านสำโรง เข้าถนนเทพารักษ์ไปสิ้นสุดที่บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สายที่ ๓ จากสาทร ผ่านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ดาวคะนอง-จอมทองถนนเอกชัย สิ้นสุดที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนต่อขยายนี้รวมระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางดังกล่าวไม่ต้องเวนคืน อาจมีบ้างบริเวณสถานีทางขึ้น-ลงที่ผู้ลงทุนจะต้องรับผิดชอบ เหตุที่ต้องประสานกับทาง สจร.ให้ร่วมพิจารณาแนวเส้นทางนี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เข้าไปในจังหวัดปริมณฑล หากเห็นชอบจะออกมาในรูปของแนวนโยบายรัฐบาล แต่หากติดขัด กทม.ก็จะทำเฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ เท่านั้น หากทุกอย่างเป็นไปตามที่คิดก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติเห็นชอบ เพื่อดำเนินการต่อไป
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สำหรับวิธีการลงทุนนั้น ได้เจรจากับธนาคารเคเอฟดับเบิ้ลยู ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(บีทีเอสซี)แล้ว มีความสนใจอยากจะมาลงทุน วิธีการอาจเป็นลักษณะทั้งบีทีเอส ธนาคาร และกทม.ร่วมกันดำเนินโครงการ ซึ่ง กทม.จะไปร่วมในรูปแบบใดจะต้องมาศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง กทม.อาจมีส่วนเข้าไปร่วมถือหุ้นตามสมควร โดยให้กรุงเทพธนาคมของ กทม. รับผิดชอบเรื่องนี้ ส่วนอัตราค่าโดยสารเริ่มแรกควรเก็บ ๒๐ บาทแล้ว อีก ๔-๕ ปีค่อยขึ้นเป็น ๒๕ ,๓๐ บาทตามลำดับ เมื่อมีการขยายเส้นทางรองรับผู้โดยสารชานเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารวันละประมาณ ๑ ล้านคน การคิดหาวิธีการร่วมลงทุนแบบใหม่นี้ถือว่าเป็นทางออกที่ดี เพราะถือว่าช่วยบีทีเอสไปในตัว
นายสมัคร กล่าวด้วยว่า เส้นทางที่ก่อสร้างในแนวคลองนั้น จะไม่รุกล้ำลงไปในน้ำ ตอม่อจะอยู่ริมคลอง ไม่กีดขวางทางระบายน้ำ ส่วนปัญหาทัศนียภาพไม่น่าจะมีปัญหา เพราะไม่ได้อยู่กลางคลองเหมือนทางยกระดับเลียบคลองภาษีเจริญที่คัดค้านกัน ซึ่งโครงการนี้ตนก็ไม่เห็นด้วย ถ้าต่อขยายเส้นทางบีทีเอสได้แล้วก็คงยกเลิกทางยกระดับภาษีเจริญ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะมีแค่ ๒ ช่องจราจร เมื่อรถเสียจะเกิดปัญหาจราจรมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องคิดทำสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำรถลอยฟ้าในเมือง--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ