ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง โพล กฎหมายเมาแล้วขับ

ข่าวทั่วไป Tuesday November 1, 2016 09:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพล กฎหมายเมาแล้วขับ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,004 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 – 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 ระบุพฤติกรรมในการขับรถ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุบนท้องถนน คือเมาแล้วขับ รองลงมาคือร้อยละ 59.1 ระบุใช้มือถือ ขณะขับรถ ร้อยละ 53.5 ระบุออกจากซอยโดยไม่หยุดรถ ร้อยละ 46.2 ระบุใช้ความเร็วเกินกฏหมายกำหนด ร้อยละ 43.4 ระบุไม่ให้สัญญาณไฟใดๆเมื่อเปลี่ยนช่องจราจร ร้อยละ 42.0 ระบุกฎหมายอ่อนแอ โทษเบาไป ตำรวจไม่เข้มงวด ร้อยละ 28.7 ระบุเมื่ออากาศสลัว ครึ้มๆ โพล้เพล้ ค่ำๆ ไม่ยอมเปิดไฟหน้ารถ ร้อยละ 27.3 ระบุ เข้าวงเวียนไม่ยอมรถในวงเวียนไปก่อน ร้อยละ 24.5 ระบุถึงแยกไม่ยอมสลับกันไป เป็นต้น และเมื่อถามถึง คนที่นั่งไปกับ คนขับรถที่เมา ต้องร่วมรับโทษด้วย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ไม่เห็นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.4 เห็นด้วยที่คนขายเหล้าให้คนขับรถและเมา ต้องรับโทษร่วมด้วย และเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.4 เห็นด้วยที่คนจัดเลี้ยงเหล้า เช่น งานแต่ง งานบวช งานศพ อื่นๆ ให้คนขับรถและเมา ต้องรับโทษร่วมด้วย ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึง รัฐบาลควรใช้วิธีการยึดรถของคนเมาและขับ ต่อเนื่องไปตลอดพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.9 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 20.1 ระบุไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.7 ระบุ ควรให้ แพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจตรวจปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ มากกว่า ต้องรอ ดุลพินิจจากตำรวจในการตรวจเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ร้อยละ 13.3 ไม่เห็นด้วย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.0 เห็นด้วยที่รัฐบาลควรเพิ่มโทษ เมาและขับ เท่ากับ กฎหมายยาเสพติด นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้กฎหมายเมาขับถูกนำมาทบทวนและเพิ่มบทลงโทษกับผู้ส่งเสริมและเกี่ยวข้องทั้งคนนั่งมาด้วย การมีบทลงโทษคนที่นั่งไปกับคนเมาขับน่าจะช่วยแก้ปัญหานักดื่มหลายคนไม่กล้าจะปฏิเสธนั่งรถไปกับเพื่อนเจ้าของรถที่เมาขับ นอกจากนี้คนขายเหล้าให้คนเมาขับต้องรับผิดร่วมและเจ้าของงานเลี้ยงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปล่อยให้แขกในงานเมาแล้วขับก็ต้องรับโทษเช่นกัน แต่เป็นห่วงว่าจะมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายจึงขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดกวดขันจริงจังต่อเนื่องถ้าออกกฎหมายตามที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยทางถนน "สำหรับความเห็นที่สนับสนุนให้แพทย์และกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจตรวจปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จากเดิมที่ต้องรอพนักงานสอบสวนร้องขอ ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมมองว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ตำรวจไม่ได้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะเมื่อมีการบาดเจ็บจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลทันที คนส่วนใหญ่จึงเรียกร้องให้มีกระบวนการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอพนักงานสอบสวนร้องขอ เพื่อให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้รับความเป็นธรรม" นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ