กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางสูง โดยมีการประเมินโดย IMF ว่าเศรษฐกิจหลักหลายแห่ง เช่น สหภาพยุโรป จีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร เป็นต้น จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในปี 2560 และมีเพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะขยายตัวดีขึ้น
โดยในระยะใกล้นี้ ต้องติดตามการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ วันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อการปรับตัวของตลาดการเงินโลก
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมนั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยกระทบในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถรักษาการขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนที่ได้รับแรงหนุนจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อประกอบกับแรงขับเคลื่อนหลักด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่ยังคาดว่าจะขยายตัวแม้อาจได้รับผลกระทบชั่วคราวจากมาตรการจัดระเบียบธุรกิจนำเที่ยว กกร.จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.3-3.5% ในปี 2559 และ 3.5-4.0% ในปี 2560
ขณะที่ภาพการส่งออกที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะในหมวดอาหารและสินค้าเกษตรบางรายการ กกร. จึงปรับประมาณการส่งออกในปี 2559 จาก -2.0 ถึง 0.0% เป็น -1.0 ถึง 0.0% และในปี 2560 ยังมองกรอบขยายตัวที่ 0.0 ถึง 2.0% ตามเดิม
อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับตัวขึ้นและมีผลต่อการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในช่วงข้างหน้า จึงคาดว่า ธปท.คงจะไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ส่งผลให้บทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจหากมีความจำเป็น จะมาจากการเร่งลงทุนและการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐเป็นหลัก
เศรษฐกิจภูมิภาคมีการปรับตัวดีขึ้น ผ่านการเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐและการท่องเที่ยวขยายตัวดีในแทบทุกภูมิภาค (มีการฟื้นตัวโดดเด่นในภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมณฑล) โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยรวม มีการขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีการขยายตัวอย่างชัดเจน แม้ว่าเศรษฐกิจทุกภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ภาครัฐจึงควรเร่งฟื้นตัวด้วยการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ในกรณีที่ สปป.ลาว ประกาศมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าส่วนบุคคลผ่านแดนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50 ดอลลาร์ฯ (ประมาณ 1,742 บาท) ซึ่งเป็นการสร้างภาระเพิ่มขึ้นกับประชาชน สปป.ลาวที่เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในไทยจึงส่งผลต่อปริมาณการซื้อสินค้าในไทย และปริมาณนักท่องเที่ยวระหว่างไทยและ สปป.ลาว ซึ่งภาคเอกชนในต่างจังหวัดมีความกังวลเกี่ยวกับการค้าชายแดนจะลดลง
ที่ประชุม กกร.จึงได้มีการพิจารณาที่จะนำประเด็นไปหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. 59 ณ จังหวัดเชียงราย และในกลไกลของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพื่อหาแนวทางและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผลการประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2559 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เป็นการประชุมที่ระดับนโยบายของผู้นำประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS ประกอบด้วย สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาความสัมพันธ์และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก
หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนไทย และเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง Thailand-Vietnam Business Forum เพื่อส่งเสริมด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีสมาชิกเป็นนักธุรกิจของทั้งฝ่ายไทยและเวียดนาม ซึ่งจะมีการผลัดกันเป็นเจ้าภาพประชุมปีละครั้ง
ข้อเสนอจากการประชุม ACMECS Joint Business Council เสนอให้ยกฐานะด่านและขยายเวลาเปิดด่าน การใช้สกุลเงินท้องถิ่น , การให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบด้านเกษตรและอาหาร ,การสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง SEZs และเส้นทางคมนาคม , การฝึกอบรบด้านอาชีวศึกษา การแลกเปลี่ยนทุนการศึกษา และ ACMECS Scholarship Program , การใช้ ACMECS Single Visa , เพิ่มเที่ยวบินระหว่างเมือง (5 Countries 1 Destination) และการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก
โดยผู้นำ ACMECS เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตาม ACMECS Action Plan 2016-2018 ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่ม ACMECS จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยทุกประเทศจะต้องสร้างความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อสร้างความเข็มแข็งไปพร้อมๆ กัน เพื่อการก้าวเข้าไปสู่การมีส่วนร่วมใน Global Value Chainได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ ในปี 2017 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 8และการประชุมCLMV ครั้งที่ 9
ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับใหม่ ได้เข้าสู่วาระสอง ของกระบวนการนิติบัญญัติโดยมีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติศุลกากร ทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับใหม่รายมาตรา ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาพิจารณา 180 วัน
ประเด็นที่ได้นำมาหารือ คือ บทบาทของศุลกากร ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าส่งออกสามารถดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย และผู้ส่งออกนำเข้าสามารลดอัตราการใช้บริการ Shipping ได้ ดังนั้น กระบวนการต้นทางของกรมศุลกากรในการควบคุมการนำเข้าและการส่งออก ควรได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศุลกากรควรมีศูนย์ในการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อให้ผู้นำเข้าส่งออกสามารถทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แล้วจะได้นำข้อมูลนั้นไปใช้ในการบริหารการนำเข้าและการส่งออกได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย
กกร. จะจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกับการนำเข้าส่งออกเพื่อนำไปหารือกับศุลกากรต่อไป ทั้งนี้ ในประเด็น National Single Window (NSW)ที่กรมศุลกากรกำลังดำเนินการอยู่ แต่อยู่ระหว่างรอการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ ขอให้มีการนำไปหารือร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เพื่อผลักดันให้ดำเนินการได้โดยเร็ว