กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเวทีประชุมระดับรัฐมนตรี 20 ประเทศ เจาะประเด็นตลาดและราคาสินค้าเกษตร ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี เกาะติดสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรโลก และความคืบหน้าการเจรจาสินค้าเกษตรของ WTO
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่อง ตลาดและราคาสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ "Long-term Commodity Price Trends and Sustainable Agricultural Development" ซึ่ง สศก. ได้ร่วมประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยมี Mr. Tofail Ahmed รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยจากประเทศต่างๆ ประมาณ 20 ประเทศ ผู้แทนสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชน เพื่อรับทราบสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรโลก การจัดทำระบบข้อมูลข่าวสารการตลาดสินค้าเกษตร ความคืบหน้าของการเจรจาสินค้าเกษตรของ WTO สต็อกอาหารและความผันผวนของราคา ข้อคิดเห็นของแต่ละประเทศสมาชิก รวมทั้งแสดงความคิดเห็นและนโยบายของไทยในประเด็นต่าง ๆ
การประชุมดำเนินการในรูปแบบการประชุมโต๊ะกลมแบ่งออกเป็น 4 การประชุมย่อย คือ การพึ่งพิงสินค้าเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายการค้า และความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ โดยที่ประชุมมีความเห็นพ้องว่า การค้าสามารถเป็นเครื่องมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าการค้าสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น รัฐบาลของแต่ละประเทศควรวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการค้าและความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการก่อนกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา การเพิ่มศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนากลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ให้สามารถเข้าถึงภาคธุรกิจและการตลาดได้มากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าอาหารเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควรพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดของสินค้าเกษตรแต่ละชนิด โดยการได้มาของข้อมูลที่จะทำให้เกิดสมดุลนั้น จะต้องมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส ทันเวลา และครอบคลุมในทุกมิติด้วย