กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ธ.กรุงเทพ
ซีอีโอแบงก์บัวหลวงให้ภาพภาวะเศรษฐกิจมหภาค สองปัจจัยภายนอกกระแสหลักบังคับเศรษฐกิจไทยชะลอตัว หากไทยสามารถรักษาระดับการลดตัวทางเศรษฐกิจให้นุ่มนวลเท่าทันกระแสภายนอก น่าจะทำให้ประเทศไร้ปัญหา ควรยังสามารถเติบโตได้ 3.5-4% การลงทุนเพื่อปรับประสิทธิภาพยังสมควรกระทำ
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า มีปัจจัยสำคัญจากต่างประเทศ 2 ประการที่ส่งอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทย ประการแรก คือ การปรับตัวของประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน โดยสหรัฐฯ แสดงท่าทีลดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ส่วนจีนพยายามปรับลดอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตน ดังนั้น จึงทำให้ ‘อุปสงค์’ (Demand) หรือความต้องการของตลาดโลกชะลอตัวลง ประการที่ 2 คือ ปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของเรายังด้อยอยู่
นายโฆสิตมีความเห็นว่า ปัจจัยทั้ง 2 ประการข้างต้น ได้ส่งผลกระทบถึงความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลก รวมทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ลดลง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าสภาพเศรษฐกิจจะยังชะลอต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้า เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก ทั้งในการผลิต และการดำรงชีวิต การแก้ไขปัญหาจึงเป็นไปได้ยากและต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วน
ธนาคารกรุงเทพมีความเป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งยังไม่มีความแข็งแกร่งในปัจจัยด้านเงินทุน ข่าวสาร และความรู้ความสามารถ ทำให้การปรับตัวรับสภาพที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ยากกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ธนาคารจึงได้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในด้านสินเชื่อ และการจัดอบรมเรื่องแผนธุรกิจ ตลอดจนเสริมความรู้ในการปรับตัวรับมือเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งธนาคารได้เริ่มเน้นหนักตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
“เราให้น้ำหนักทางวิชาการมาเรื่อยๆ และจะทำเป็นระยะยาวต่อไป จนกระทั่งเศรษฐกิจโลกจะสามารถปรับตัวได้อย่างนุ่มนวล โดยทั้งสหรัฐฯและจีน จะค่อยๆ ทำให้เศรษฐกิจโลกลดระดับลงมาได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ประเทศไทยต้องตระหนักว่าเขากำลังลดระดับลง เราต้องลดลงไปในระดับพอดีพอควร จะไม่เป็นไร” ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพกล่าว และคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่าน่าอยู่ระหว่าง 3.5- 4%
นายโฆสิตอธิบายต่อไปว่า สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการไทยในขณะนี้ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าการเร่งการเจริญเติบโต การขยายการลงทุนสามารถทำได้ โดยไม่ใช่เพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การลงทุนเพื่อลดการใช้พลังงาน การลงทุนเพื่อลดการใช้แรงงาน การลงทุนเพื่อให้เข้าไปใกล้ตลาด หรือใกล้ แหล่งวัตถุดิบมากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ สำหรับประชาชนโดยทั่วไป ก็ยังต้องคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน ดังนั้น การชะลอการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ก็จะส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดในอีกทางหนึ่งด้วย--จบ--