กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2559 ที่กระทรวงวัฒนธรรม พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ โดยที่ประชุมได้รับทราบความเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ กับคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องจากมีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกัน คือ พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน และพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ จะต้องทำงานกับหน่วยงานรัฐและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2560 – 2564 ระยะ 5 ปี ตามที่มีการนำเสนอ โดยมีสาระสำคัญ 5 ด้านประกอบด้วย
1. สนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น จัดทำมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนและสร้างแรงงานจูงใจให้แก่ผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
2. สร้างภูมิคุ้มกันด้านวัฒนธรรมการใช้สื่อเชิงสร้างสรรค์ เช่น สร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชนเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
3.พัฒนาการบริหารจัดการ และกลไกการทำงานเชิงบูรณาการ เช่น จัดทำแผนปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในส่วนกลางและภูมิภาคให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
4. รณรงค์กระแสสังคมสร้างความตระหนักถึงการบริโภคสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น จัดทำข้อมูลด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีสมัยในรูปแบบของสื่อประเภทต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่แก่ประชาชน
และ5.บังคับใช้กฎหมาย เช่น การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันและแก้ไขปัญหาสื่อที่ไม่เหมาะสมในมิติต่างๆ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) สรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ รวมทั้งได้ให้คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ กลับไปพิจารณารายละเอียดร่างยุทธศาสตร์เป็นเวลา 7 วัน และให้ส่งความเห็นกลับมาให้ วธ. หลังจากนั้นให้วธ.นำเสนอร่างยุทธศาสตร์ที่มีการทบทวน ปรับปรุงตามความเห็นของคณะกรรมการสื่อปลอดภัยฯ เรียบร้อยแล้วเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง
"การแก้ปัญหาสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสื่อไม่เหมาะสมนั้น อยากให้สื่อเขาดูแลเองก่อน และใช้วิธีน้ำดีไล่น้ำเสีย จะต้องส่งเสริมสื่อที่ดีและปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การส่งเสริมให้มีชมรมของสื่อที่ดี เพื่อสนับสนุนให้เกิดสื่อที่ดีเพิ่มขึ้น จะทำให้สื่อที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยค่อยๆ หายไป" พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าว
พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสม ได้รายงานสรุปผลการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งผลการศึกษาได้เสนอมาตรการป้องกันสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เช่น มาตรการขอความร่วมมือในการดูแลสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมทั้งควรจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้และชี้ถึงโทษทางกฎหมาย และให้มีมาตรการทางสังคม เช่น การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อในทุกมิติ และมาตรทางกฎหมายให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายดำเนินการเอาผิดแก่ผู้ที่ผลิตและเผยแพร่หรือส่งต่อสื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย เช่น การเปิดช่องทางการรับแจ้งเหตุและที่มาของสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องปรามและแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ ผลการศึกษาได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความทันสมัยและครอบคลุมการดูแลสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสม เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งนี้ จะมีการขับเคลื่อนการดำเนินการตามผลการศึกษาดังกล่าวต่อไป