กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--พิตอน คอมมิวนิเคชั่น
"ความปลอดภัยไซเบอร์ด้านการเงิน" คือหนึ่งในหัวข้อหลักในงาน Kaspersky Lab Cyber Security Weekend for Asia Pacific Countries จัดโดยแคสเปอร์สกี้ แลป เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างรวมตัวกันเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับภัยคุกคามทางการเงิน ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเราด้วย
วิทาลี คามลัก ผู้อำนวยการทีมวิเคราะห์และวิจัยของแคสเปอร์สกี้ แลป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Global Research and Analysis Team - GReAT) กล่าวว่า "ภัยคุกคามทางการเงินนั้นมีความหลากหลาย ทั้งภัยฉ้อโกงออนไลน์ โทรจันที่โจมตีเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ไปจนถึงการโจมตีสถาบันการเงิน ตู้เอทีเอ็ม และจุดชำระค่าสินค้าและบริการ เมื่อเราวิเคราะห์สถิติแล้ว พบว่าภาคการเงินของประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีการพัฒนาที่รวดเร็ว อาชญากรไซเบอร์ก็ยิ่งเสาะหาหนทางหาผลประโยชน์จากจุดนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อมีการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งรายบุคคลและองค์กรส่วนใหญ่มักจะลืมนึกถึงความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่แคสเปอร์สกี้ แลป จะคอยเตือนภัยไซเบอร์แก่ผู้ใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้นั่นเอง"
จากรายงานเรื่อง The Consumer Security Risks Survey 2016 โดยแคสเปอร์สกี้ แลป และบีทูบี อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 67% กังวลเรื่องการฉ้อโกงผ่านธนาคารออนไลน์ 63% ระบุว่ากังวลเรื่องช่องโหว่ขณะทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ 62% ระบุว่า จะใช้ธุรกรรมจ่ายเงินออนไลน์บ่อยขึ้นหากมีระบบการป้องกันที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังกังวลเรื่องความปลอดภัยทางการเงิน โดยผู้บริโภคทั่วโลกจำนวน 5% เคยสูญเงินจากการหลอกล่อฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 476 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
"สแปม ฟิชชิ่ง และโทรจันแบ้งกิ้ง เป็นภัยคุกคามทางการเงินที่ระบาดมากที่สุด ดังนั้น ผู้ใช้จึงควรมีความระมัดระวังในการสังเกตเว็บปลอม หรืออีเมลลวงถามข้อมูลทางการเงิน และต้องมีระบบความปลอดภัยสำหรับโมบายดีไวซ์ด้วยหากทำธุรกรรมออนไลน์ สำหรับองค์กรควรตรวจสอบระบบพื้นฐานไอทีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำธุรกรรมออนไลน์" วิทาลีกล่าวเสริม
โทรจันแบ้งกิ้งยังครองอันดับหนึ่งภัยคุกคามออนไลน์ที่น่ากลัวที่สุด และมักแพร่กระจายผ่านเว็บไซต์หลอกลวงหรือเว็บไซต์ที่ถูกแก้ไขดัดแปลง และผ่านอีเมลสแปม เมื่อผู้ใช้ติดเชื้อแล้วก็จะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว อย่างเช่นรายละเอียดบัญชีธนาคาร รหัสผ่าน รายละเอียดการจ่ายผ่านบัตรต่างๆ จากข้อมูลของ Kaspersky Security Network ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2016 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า จำนวนโทรจันแบ้งกิ้งเพิ่มสูงมากขึ้นในประเทศต่อไปนี้ ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 24% อินเดีย เพิ่มขึ้น 31% จีน เพิ่มขึ้น 43% และเวียดนาม เพิ่มขึ้น 104% เวียดนามและอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีเหยื่อจำนวนมากที่สุด สำหรับประเทศอื่นนั้น พบว่ามียอดจำนวนเหยื่อลดลง ซึ่งเกิดจากการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ใช้ แนวคิดริเริ่มการบริหารของรัฐบาล รวมถึงลักษณะการโจมตีเชิงภูมิศาสตร์จากอาชญากรที่สร้างโทรจันแบ้งกิ้ง
คำแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไป
- ตรวจสอบมัลแวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอ สามารถเลือกใช้ทูลฟรีอย่าง Kaspersky Security Scan (http://free.kaspersky.com) แต่จะให้ดีควรติดตั้งโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยบนดีไวซ์ทุกประเภทที่ใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ หรือบัญชีส่วนบุคคล
- ใช้แต่ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและอัพเดทอยู่เสมอ
- ตั้งรหัสผ่านที่ยากและเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการคลิกลิ้งก์จากบุคคลหรือองค์กรที่น่าสงสัย
- ระมัดระวังตลอดเวลาเมื่อเข้าเว็บไซต์
คำแนะนำสำหรับธุรกิจ
- รายงานการโจมตีที่น่าสงสัยต่อธนาคารหรือแจ้งตำรวจ
- ใช้โซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยที่มีคุณภาพ
- อัพเดทซอฟต์แวร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ด้านแบ้งกิ้งหรือความปลอดภัยไอที
- ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยไอทีแก่พนักงาน
- ปฏิบัติตามนโยบายความปลอดภัยไอทีอย่างเคร่งครัด
ธนาคารทั้งหลายต่างได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะ เช่น Kaspersky Fraud Prevention ที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากกลโกงออนไลน์และธุรกรรมการเงินโมบายของผู้ใช้ นอกจากนี้ หนึ่งในมาตรการความปลอดภัยคือการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของผู้เชี่ยวชาญไอที ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญนอกองค์กรเมื่อจำเป็น