กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
นางนิตยา มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นที่การป้องกันและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี จากข้อมูลการรักษาพยาบาลในปี 2542 พบว่ามีประชาชนเจ็บป่วย และเข้ารับการตรวจสอบโรคจากแพทย์ในโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดทั่วปะเทศประมาณ 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีอาการถึงขั้นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 5 ล้านคน โดยเฉลี่ยนอนโรงพยาบาลรายละ 5 วัน ทำให้เกิดการสูญเสียรายจ่ายมากขึ้น ถึงแม้ว่าบางส่วนจะอยู่ในระบบการประกันสุขภาพหรืออยู่ในกลุ่มของสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลก็ตาม ดังนั้นนายแพทย์มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายมุ่งเน้นที่การป้องกัน โดยใช้มาตรการสุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย นำไปสู่การมีสุขภาพดี นอกจากนี้ยังได้รวมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาคุณภาพเด็กนักเรียนโดยจัดทำโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพขึ้นเพื่อให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาสุขภาพของชุมชน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้ขยายครอบคลุมโรงเรียนแล้ว 8,350 แห่ง คาดว่าหากนักเรียนรุ่นนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่จะเป็นผู้ที่รู้จักรักษาดูแลสุขภาพของตนเองดีขึ้น
ทางด้านนายจำนงค์ อิ่มสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่าในปี 2543 กองสุขศึกษาได้ดำเนินการสำรวจสภาวะพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ข้อ ในกลุ่มเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งแรกในประเทศไทย ใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 7,300 คน ผลการสำรวจพบว่าพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขและปลูกฝัง มี 3 ข้อคือ
การดูสุขภาพในช่องปาก พบว่านักเรียนมากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป แปรงฟันหลังตื่นนอนตอนเช้า อีกร้อยละ 49 ไม่แปรงฟันก่อนนอน โดยเด็กมากกว่าร้อยละ 70 ไม่เคยไปพบทันตแพทย์ตรวจฟันเลย ในส่วนของการรับประทานอาหาร พบว่าเด็กมากกว่าครึ่งไม่ชอบล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และมีเด็กครึ่งต่อครึ่งที่ยังรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารรสจัด ผลของพฤติกรรมเหล่านี้เอื้อต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ส่วนพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุจราจร พบว่ามีเด็กไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งเมื่อขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์--จบ--
-สส-