กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย)
วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 บริษัท วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ แห่งเมืองโทเลโดเซ็นสัญญากับกองทัพสหรัฐอเมริกา ในการผลิตรถวิลลี เอ็มบี สำหรับใช้ในราชการทหารระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเป็นต้นมา จี๊ป ก็ได้กลายสัญญลักษณ์แห่งรถยนต์ที่สามารถบุกไปได้ทุกที่ทุกสภาพการขับขี่ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป ในตลาดรถออฟโรดหรือ SUV ถึงแม้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายจะได้เริ่มผลิตรถขับเคลื่อน 4 ล้อกันมากขึ้น แต่ จี๊ป ก็ยังคงครองตำแหน่งรถออฟโรดที่โดดเด่นที่สุดของค่ายรถยนต์สหรัฐ
แกรนด์ เชอโรกี เป็นรถรุ่นหัวหอกในตระกูลจี๊ป ที่รูปลักษณ์ภายนอกสะท้อนถึงความมีระดับของผู้ขับขี่ ขณะเดียวกัน ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของจี๊ปในด้านความสมบุกสมบันและความทนทานซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ขับขี่มีความเชื่อมั่นในจี๊ปอย่างมั่นคง จี๊ป แรงเลอร์ เป็นเสมือนอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของจี๊ป ที่ได้รับความนิยมเพราะรูปลักษณ์ที่สะท้อนถึงความสนุกสนานและอิสระที่จะ "ไปได้ทุกที่ ขับขี่ได้ทุกสถานการณ์" จี๊ป แรงเลอร์ เป็นผลผลิตรุ่นใหม่ที่รักษาเอกลักษณ์ของจี๊ปรุ่นดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่ไม่ได้เป็นการย่ำอยู่กับที่ ส่วนจี๊ป เชอโรกี เป็นยานยนต์ที่เกิดขึ้นในช่วงยุคทองของรถออฟโรดในช่วง พ.ศ.2527 สำหรับในปัจจุบัน จี๊ปเชอโรกี 2002 รุ่นใหม่ล่าสุดก็ยังคงรักษาความเป็นจี๊ปไว้ในด้านความคงทน ความสามารถในการขับขี่ในพื้นที่ทุรกันดาร แต่เพิ่มรูปลักษณ์มีระดับและทันสมัยให้ดูดียิ่งขึ้น
มร. ทอม มาริเนลลี รองประธาน ฝ่ายศูนย์พัฒนาแบรนด์ไครสเลอร์/จี๊ปทั่วโลก เดมเลอร์ไครสเลอร์ คอร์เปอเรชั่น กล่าวว่า "จี๊ป เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในด้านความสามารถ ความคงทน โดยเฉพาะในรุ่นแรงเลอร์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จี๊ปได้ทำหน้าที่อย่างดีในการเป็นผู้นำของตลาดรถออฟโรด โดยเป็นผู้ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ และจี๊ป ไม่เคยทิ้งเอกลักษณ์ในด้านความสามารถและสมรรถนะในการขับขี่ทั้งแบบออฟโรดและบนทางเรียบที่ไม่มีใครทาบได้"
จี๊ป เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างไร้พรมแดน โดยในปัจจุบัน จี๊ป มีจำหน่ายในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก และนับตั้งแต่ได้มีการเปิดตัวจี๊ป เชอโรกีในปี 2527 เป็นต้นมา ได้มีการผลิตและจำหน่ายจี๊ป เชอโรกีไปแล้วกว่า 2 ล้านคัน
ที่มาของชื่อ
มักจะมีผู้ถามกันเสมอๆ ว่า ชื่อ "จี๊ป" มีความเป็นมาอย่างไร หลายคนเชื่อว่า ต้นกำเนิดชื่อ "จี๊ป" นั้น มาจากการ์ตูนเรื่องป๊อปอาย ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยมีตัวการ์ตูนเอกชื่อ ยูจีน และ จี๊ป จี๊ป เป็นตัวการ์ตูนที่ขี้เล่น และมีความสามารถพิเศษที่จะไปที่ไหนเมื่อไรก็ได้ และสามารถแก้ไขได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับรถในตระกูลจี๊ป
บางคนเชื่อว่า ชื่อจี๊ป เกิดจากเสียงเรียกที่เพี้ยนมาจาก จี.พี. ซึ่งเป็นคำย่อของ General Purpose หรือ "เอนกประสงค์" อันเป็นชื่อที่กองทัพสหรัฐใช้เรียกรถตรวจการณ์ขนาดครึ่งตัน บางกระแสก็ว่าชื่อ จี๊ป เป็นชื่อรถบรรทุกสำหรับขุดเจาะน้ำมันในรัฐโอคลาโฮมา ในยุค 2477
จนถึงทุกวันนี้ ที่มาของชื่อ "จี๊ป" ก็ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันได้อย่างสนุกสนานเสมอ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างปราศจากข้อเคลือบแคลงใดๆ ก็คือ ชื่อของแบรนด์ "จี๊ป" นั้น อยู่ยงคงกระพันมานานแม้ว่าตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่คนทั่วโลกก็ยังคงให้การยอมรับจี๊ปอย่างเหนียวแน่น และจี๊ป ก็ยังคงเป็นตำนานรถที่ไม่มีวันตาย
จี๊ปยุคบุกเบิก (2483-2489)
- วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ เซ็นสัญญากับกองทัพสหรัฐ
- จี๊ปคันแรกประสบความสำเร็จในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงแรก ประมาณปี 2481 ควันสงครามเริ่มคุกรุ่นในยุโรปตะวันตก และกองทัพบกของสหรัฐก็ได้ ติดต่อผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดโดยแจ้งความประสงค์ว่ากองทัพอเมริกันต้องการรถยนต์ที่จะนำมาใช้ แทนรถจักรยานยนต์ 3 ล้อ หรือรถพ่วงที่ใช้กันมาแต่เดิมในการรับส่งข้อมูลหรือตรวจการณ์ ใน ฤดูร้อนปี 2483 กองทัพสหรัฐก็ได้ให้แนวคิดว่ารถดังกล่าวควรจะต้องมีน้ำหนักเบา บังคับง่าย ทนทาน วางใจได้ และพร้อมรับทุกสถานการณ์อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลนี้แล้วมีเพียงผู้ผลิตรถยนต์ 3 รายเท่านั้นที่พร้อมจะลงสนามแข่งขัน
เจ้าตลาดทั้ง 3 คือ ฟอร์ด แบนแทม และ วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ต่างก็มุ่งมั่นพัฒนาจนกระทั่งได้รถกว่า 1,500 รุ่นที่พร้อมจะทดสอบในสนามจริง และในท้ายที่สุดรถยนต์ของ วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ ได้รับการคัดเลือก (และมีราคาเพียงคันละ 738.74 เหรียญสหรัฐเท่านั้น) โดยได้มีการนำบางส่วนของฟอร์ดและแบนแทมมาประยุกต์เข้าด้วยกัน และตำนานแห่งจี๊ปก็ได้เริ่มปรากฏในวันที่ 23 กรกฏาคม 2484 เมื่อ วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ ได้เซ็นสัญญากับกองทัพสหรัฐ เพื่อผลิตรถวิลลีส์ เอ็มบี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ทหารทุกคนต่างก็ติดใจในรถรุ่นดังกล่าวมาก เออร์นี่ ไพล์ นักข่าวผู้โด่งดังรายหนึ่งซึ่งติดตามข่าวสงครามกล่าวว่า "ผมคิดว่าเราคงการการรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้แน่ได้ไม่มีรถจี๊ป เพาะจี๊ปทำได้ทุกอย่าง ชื่อสัตย์ ทนทาน และว่องไวปราดเปรียวที่สุด" ด้วยความคล่องตัวและความเป็นรถอเนกประสงค์นี้เองที่ทำให้มีการนิยมใช้รถจี๊ปในกิจกรรมต่างๆ
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 รถจี๊ปถูกใช้งานทุกประเภทตั้งแต่ขนสัมภาระ เป็นแท่นวางปืน เป็นรถ ตรวจการณ์ เป็นรถบรรทุก เป็นรถลิมูซีน เป็นรถขนส่งอาวุธ จนกระทั่งเป็นแท็กซี่ รวมทั้งยังเป็น รถลำเลียงคนบาดเจ็บไปยังที่ปลอดภัย และขนปืนใหญ่ไปยังสถานที่ที่ต้องการ
เครื่องพิสูจน์ประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ารถจี๊ป เป็นรถที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ได้มีการผลิตรถจี๊ปถึง 600,000 คันในช่วงสงคราม
จี๊ปในยามสงบ (พ.ศ. 2489 - 2493)
- รถจี๊ปคันแรกสำหรับตลาดผู้บริโภค
- รถแวนเหล็กกล้าคันแรก
- การพัฒนาจี๊ป เชอโรกี แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
หลังจากสงครามสงบลง อเมริกาถอนทหารออกจากยุโรปหมด เหลือแต่ร่องรอยที่ทิ้งไว้เบื้องหลังคือ ช็อคโกแล็ตเฮอร์ชีย์ และ …..รถจี๊ป คนทั่วไปต่างก็ยินดีที่มีรถจี๊ปไว้ใช้ในงานไร่นาและเมื่อเข้าป่า เพราะความแข็งแกร่งทนทานและวางใจได้โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ในการปรับปรุงบ้านเมืองขึ้นใหม่ ทำให้คนจำนวนมากได้สัมผัสและได้ชื่นชมกับความสามารถและอิสระในการขับขี่ของรถจี๊ป และในไม่ช้าก็ได้เริ่มมีการนำรถจี๊ปมาใช้งานเพื่อความเพลิดเพลินแทนงานสมบุกสมบัน
วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ได้เล็งเห็นแนวโน้มใหม่ในการสร้างตลาดยานยนต์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ จึงได้ผลิตรถรุ่นใหม่ขึ้นในปี 2587 คือ รุ่น CJ-1A (CJ ย่อมาจาก Civilian Jeep) และรถรุ่นแรกที่นำออกสู่ตลาดรถเพื่อการผจญภัยและการพักผ่อนหย่อนใจ คือ รุ่น CJ-2A ซึ่งมีราคาเพียงคันละ 1,090 เหรียญสหรัฐ และมีรูปลักษณ์ใหม่ๆ ที่สะท้อนความสะดวกแบบมีระดับ เช่น ประตูหลัง และที่ปัด น้ำฝนระบบอัตโนมัติ เป็นต้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนารถในตระกูล Jeep Universal ที่ยังคงความทนทานและแข็งแกร่งแต่ให้ความสะดวกสบายสำหรับการขับขี่ทั่วไป
ในปี 2489 วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ ได้เปิดตัวรถแวนที่ทำจากเหล็กกล้าคันแรก รถดังกล่าวเป็นรถ ขับเคลื่อน 2 ล้อขนาด 7 ที่นั่ง ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 65 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 104 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ต่อมาในปี 2492 ก็ได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมเครื่องยนต์ 6 สูบ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ทำให้รถแวนรุ่นนี้กลายมาเป็นต้นตระกูล จี๊ป เชอโรกีในปัจจุบันจริงๆ แล้ว ความสนุกสนานในการขับขี่อย่างแท้จริงนั้น เริ่มขึ้นในปี 2491 เมื่อมีการผลิตจี๊ปสเตอร์ รถสปอร์ตแบบ 2 ประตูขึ้น โดยใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ และพัฒนามาเป็น 6 สูบในปี 2492 และในปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีการผลิตรถ CJ รุ่นใหม่ หรือ จี๊ป ยูนิเวอร์เซล และรุ่น CJ-3A รุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น
พัฒนาการของจี๊ปในยุคทศวรรษที่ 50
- ไคเซอร์ คอร์เปอเรชั่นซื้อกิจการ วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์
- เปิดตัว CJ-5
- ตลาดรถขับเคลื่อน 4 ล้อบูม
วันที่ 30 มิถุนายน 2493 วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ ตัดสินใจที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ จี๊ป ซึ่งได้รับการยอมรับมากเนื่องจากได้รับการพิสูจน์เป็นอย่างดีในช่วงสงคราม และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในต่างประเทศพร้อมกันนั้น ก็ได้ปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ของจี๊ปสเตอร์ พัฒนาตะแกรงแนวนอนด้านหน้าของรถ เครื่องยนต์แบบใหม่ 2 รุ่น รถปิคอัพ ขับเคลื่อล้อหน้าขนาดครึ่งตัน และรถปิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อคันแรกของวงการยานยนต์โลก รถปิคอัพเหล่านี้ได้กลายมาเป็นสมาชิกใหม่ในตลาดรถอเนกประสงค์ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากที่สุดของอเมริกา
ในช่วงดังกล่าว ชื่อของวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ดังก้องไปทั่วโลก นปี 2496 กลุ่มบริษัท ไคเซอร์ คอร์เปอเรชั่นได้เข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดของวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ และได้มีการตั้งชื่อบริษัทใหม่นี้ว่า วิลลีส์ มอเตอร์ และถึงแม้มีการปรับทิศทางการดำเนินงานใหม่ แต่ก็ยังคงมีการผลิตจี๊ปอย่างต่อเนื่องตามเจตนารมณ์เดิม
ในปี 2497 รถ CJ-5 รุ่นใหม่รูปทรงมนสะดุดตาที่เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ได้กลายมาเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่ได้รับความนิยมสูง และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2526 รถรุ่นนี้แม้จะมีคุณสมบัติคล้ายกับรุ่น CJ-2A แต่ก็มีรูปลักษณ์และสไตล์ที่นุ่มนวลกว่าและขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ไคเซอร์ยังได้พัฒนาจี๊ปต่อไปอีก 2 รุ่น คือ ในปี 2498 ได้พัฒนารถขับเคลื่อน 2 ล้อ และ ในปี 2499 ก็ได้พัฒนารถบรรทุกในตระกูล FC ออกมา รถตระกูล FC (Forward Control) เป็นตระกูลพิเศษที่มีการใส่ตัวถังรถครอบบนเครื่องยนต์ทำให้ด้านหน้าขอตัวรถสั้น และรถดังกล่าวยังคงรูปลักษณ์เดิมมาจนในปี 2507 จึงได้มีการเปลี่ยนโฉมและเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 50 นับเป็นระยะแรกที่ไคเซอร์เริ่มมีอิทธิพลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถ ออฟโรดแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ บริษัทฯ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมยานยนต์ใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถและประโยชน์ใช้สอยให้กับรถขับเคลื่อน 4 ล้อ และผลจากการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างในปี 2505
จี๊ปในยุคทศวรรษที่ 60
- ต้นกำเนิดตลาดรถออฟโรด
- เปิดตัวรถตระกูล เจไลน์ (J-Line) และ จี๊ป แวกอนเนียร์ (Jeep Wagoneer)
- วิลลีส์ มอเตอร์ เปลี่ยนชื่อเป็น ไคเซอร์ จี๊ป คอร์เปอร์เรชั่น
- เครื่องยนต์ใหม่ให้การขับเคลื่อน 4 ล้อที่สะดวกสบายมากขึ้น
ทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์จี๊ป เพราะได้เกิดตลาดรถออฟโรดที่แท้จริง และมีการบัญญัติศัพท์ว่า SUV (sport-utility vehicle) เป็นครั้งแรก นับได้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของจี๊ป เพราะก่อนหน้านี้ รถที่มีการใช้งานประเภทนี้มักจะถูกเรียกรวมๆ กันว่ารถจี๊ป
ในปี 2505 ได้เปิดตัวรถใหม่ในตระกูล เจ-ไลน์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "All New and All Jeep" โดยใน ปี 2506 มีการผลิตรถแวนรุ่น จี๊ป แวกอนเนียร์ และ รถบรรทุก จี๊ป แกลดิเอเตอร์ สำหรับการใช้งานทั่วไปเป็นครั้งแรก และยังเป็นรุ่นแรกที่มีระบบเกียร์อัตโนมัติ พร้อมด้วยความสะดวกสบายแบบรถเก๋ง นับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกที่ได้มีการการผสมผสานระหว่างรถขับเคลื่อน 4 ล้อ และความสะดวกสบายด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ
6 เดือนหลังจากการเปิดตัวรถในตระกูล เจ-ไลน์ ชื่อ "วิลลีส์" ก็ต้องกลายเป็นตำนานเมื่อ วิลลีส์ มอเตอร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า ไคเซอร์ จี๊ป คอร์เปอเรชั่น และในปี 2508 รถรุ่น Dauntless ที่ใช้เครื่องยนต์ V-6 ก็ถูกพัฒนาขึ้น และมีกำลังแรงม้าเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ ยังมีรุ่น Vigilant เครื่องยนต์ V-8 ที่ให้แรงม้าสูงสุด 250 แรงม้า ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้ขับขี่ยังเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ในทันที ไม่ต้องอาศัยระยะทางมากอย่างแต่ก่อน
ในเดือนธันวาคม 2508 บริษัทฯ ได้แนะนำ ซูเปอร์ แวกอนเนียร์ออกสู่ตลาด และในปีถัดมารถในตระกูลจี๊ปสเตอร์อีกหลายรุ่นก็ได้ตามมาสู่ท้องตลาด ได้แก่ จี๊ปสเตอร์ คอมมานโด ที่มีทั้งแบบรถแวน รถเปิดประทุน ปิคอัพ และรถเก๋ง ซึ่งทั้งหมดเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อและมีระบบเกียร์อัตโนมัติทั้งสิ้น
ยุค 70
- เอเอ็มซี ซื้อกิจการของไคเซอร์กรุ๊ป
- เชอโรกีเผยโฉมในปี 2517
- จี๊ปสร้างระบบ ขับเคลื่อน 4 ล้อสมบูรณ์แบบระบบแรกของโลก
- Renegade II และ CJ-7 ออกสู่ตลาด
ในปี 2513 กลุ่มบริษัท อเมริกัน มอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น หรือ เอเอ็มซี ได้เข้าซื้อกิจการของไคเซอร์ จี๊ป คอร์เปอเรชั่น และได้ขยายการผลิตรถจี๊ปออกไปอีกมาก ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ เอเอ็มซีได้สร้างกระแสใหม่ในวงการคือ ความสนุกสนานจากการผจญภัยแบบออฟโรดกับจี๊ป
เอเอ็มซีได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นใหม่คือ จี๊ป คอร์เปอเรชั่น เพื่อดูแลกิจการจี๊ป และได้ผลิตรุ่น Renegade II รุ่นพิเศษจำนวนจำกัดออกสู่ตลาดในปี 2514 Renegade II เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่พัฒนามาจาก CJ-5 และมีคุณสมบัติต่างๆ ที่เพิ่มสมรรถนะให้กับรถดังกล่าวอีกมาก ในปีต่อมา รถจี๊ปทุกรุ่นได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ที่เอเอ็มซีเป็นผู้ผลิต คือเครื่องยนต์ V 8 ขนาด 304 หรือ 360 ลูกบาศก์นิ้ว มาถึงในยุคนี้ รถในตระกูลจี๊ป ยูนิเวอร์แซล ถูกเรียกสั้นๆ ว่า จี๊ป เท่านั้น และสโลแกนที่ติดใจคนทั่วไปคือ "ถ้าจี๊ปใหม่พาคุณไปไม่ได้ อย่าคิดจะไปที่นั้นดีกว่า"
ยุคทศวรรษที่ 70 เป็นยุคที่จี๊ป แวกอนเนียร์มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ เครื่องยนต์มาตรฐานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดรถแวน และระบบค วอดรา-แทร็ค ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติที่สมบูรณ์แบบที่สุดเป็นระบบแรก
จี๊ป เชอโรกี เข้าสู่ตลาดรถสปอร์ต 2 ประตูในปี 2517 (และรุ่น 4 ประตูในปี 2520) เชอโรกีรุ่นนี้ คล้ายคลึงกับรุ่นแวกอนเนียร์ แต่มีคุณสมบัติเด่นหลายประการที่ทำให้เชอโรกีเป็นรถที่ประสบความสำเร็จที่สุดในตระกูลจี๊ป ต่อมาในปี 2519 รถรุ่น CJ-7 ที่มีหลังคาพลาสติกแบบถอดออกได้เป็น ออปชั่น และ CJ-8 ซึ่งเป็นปิคอัพแบบเปิดตัวถัง ได้ถูกผลิตออกสู่ตลาด นอกจากนี้ ในปี 2521 จี๊ป แวกอนเนียร์รุ่นพิเศษจำนวนจำกัด ก็ได้เผยโฉมออกสู่สายตานักขับขี่ทั่วโลก และเป็นรุ่นที่ให้ความ พึงพอใจกับผู้ขับขี่ในด้านเทคโนโลยีล้ำยุคและรูปลักษณ์มีระดับ เช่น ภายในบุหนัง แอร์ เครื่องเสียงคุณภาพ และนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทนทาน
จี๊ป ยุคทศวรรษที่ 80
- เชอโรกีรุ่นใหม่ขนาดเล็กลงกว่าเดิมแต่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ทรงพลัง เปิดตัวปี 2527
- ปี 2530 จี๊ป แรงเลอร์ ออกตัวอย่างร้อนแรง
- ไครสเลอร์ คอร์เปอเรชั่น เข้าซื้อกิจการเอเอ็มซี
อุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกาสะดุดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และทีมนักออกแบบของจี๊ปก็ต้องพบกับความยากลำบาก โดยเฉพาะในด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการทดสอบรถแวนแบบ สปอร์ตรุ่นใหม่ เมื่อสภาพเศรษฐกิจค่อยฟื้นตัวแล้ว ผู้บริโภคทั่วไปก็หันมาให้ความสนใจกับการเลือกซื้อรถกันอีกครั้ง และตลาดเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นชัดขึ้นว่า รถที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ต้องการ เป็นรถออฟโรดที่มีขนาดเล็กลง มีความประณีต และมีคุณสมบัติคล้ายรถเก๋งมากขึ้น
จี๊ป ไม่รีรอที่จะสนองความต้องการของผู้บริโภค เชอโรกีรุ่นใหม่จึงเกิดขึ้นในปี 2527 เชอโรกีใหม่มีขนาดเล็กลง แต่คล่องตัวปราดเปรียวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นรถออฟโรดรุ่นเดียวที่มี 4 ประตู และมีเทคโนโลยีใหม่ให้เลือกใช้คือ คอมมานด์แทร็ค ที่ช่วยเร่งความเร็วทันที หรือ ซีเล็คแทร็ค ซึ่งผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ทันที
ในยุคทศวรรษ 80 นี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่นอีกหลายประการ ได้แก่ ในปี 2527 ได้ยกเลิกการผลิตรถรุ่น CJ-5 เพื่อที่จะได้หันมาเน้นการผลิตรถรุ่นใหม่เช่น CJ-7 และ CJ-8 Scrambler และในปี 2528 ก็ได้แนะนำรถปิคอัพ Jeep Commanche ซึ่งเป็นรถจี๊ปแบบปิคอัพตระกูลใหม่ ในปีต่อมา ก็ได้ยกเลิกการผลิตรุ่น CJ-7 และในปี 2530 ได้ออกรุ่นแรงเลอร์แทนจี๊ปแรงเลอร์ แบบตัวถังเปิดยังคงความทนทานแข็งแกร่ง และความสมบุกสมบันเช่นเดียวกับรุ่น CJ-7 แต่ให้ความสะดวกสบายแบบเชอโรกี
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในยุคนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2530 เมื่อกลุ่มบริษัท ไครสเลอร์ คอร์เปอเรชั่นได้เข้าซื้อกิจการของเอเอ็มซี และได้เริ่มพัฒนาจี๊ปใหม่ โดยผสมผสานเอกลักษณ์ในด้านความสมบุกสมบันกับความโดดเด่นของรถอเมริกันในด้านการบังคับได้ง่าย ความปลอดภัย และความสบาย ซึ่งเป็นการเปิดตำนานจี๊ปยุคใหม่
จี๊ป ยุคทศวรรษ 90
- เชอโรกีกลายเป็นมาตรฐานรถ SUV ขนาดกระทัดรัด
- แกรนด์ เชอโรกี ประสบความสำเร็จสูง
- แรงเลอร์ใหม่เผยโฉมในปี 2539
- ไครสเลอร์ผนวกกิจการกับเดมเลอร์-เบนซ์
22 มีนาคม 2533 จี๊ป เชอโรกี คันที่ 1 ล้านถูกปล่อยออกจากสายการผลิต นับเป็นเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้นที่ได้มีการผลิต จี๊ป เชอโรกี แต่รถรุ่นดังกล่าวก็ได้กลายเป็นรถที่มีความโดดเด่นมากที่สุดรุ่นหนึ่ง การเปิดตัวเชอโรกีรุ่นปี 2534 นับเป็นการคืนชีพของสุดยอดสมรรถนะ Jeep Renegade ในยุคทศวรรษที่ 70 ขณะที่แกรนด์ แวกอนเนียร์ และ รถปิคอัพ Comanche อำลาจากสายการผลิต
จากนั้นในปี 2535 แกรนด์ เชอโรกีรุ่นปี 1992 ก็เข้าสู่ตลาด ทีมพัฒนาจี๊ปได้พัฒนารถที่กลายเป็นมาตรฐานวงการรถยนต์แบบ SUV และ แกรนด์ เชอโรกีใหม่ก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม นับตั้งแต่การเปิดตัวที่จัดอย่างน่าตื่นเต้นด้วยการขับจี๊ป แกรนด์ เชอโรกี พุ่งออกมาจากกำแพงกระจก
แกรนด์ เชอโรกี ปรับโฉมใหม่ในปี 2539 พร้อมกับการเปิดตัว แรงเลอร์โฉมใหม่ เป้าหมายของการปรับโฉมใหม่ของทั้งสองรุ่นนั้น คือ การสร้างมาตรฐานใหม่ในวงการยานยนต์ ขณะเดียวกันก็รักษาเอกลักษณ์ความสมบุกสมบันของจี๊ปไว้ แรงเลอร์โฉมใหม่ในโทนสีสันสดใสจึงยังคงความสามารถในการ "ไปได้ทุกที่ ขับขี่ได้ทุกสถานการณ์" พร้อมด้วยความปลอดภัย ความประณีต และสมรรถนะในการขับขี่แบบออฟโรดและบนทางเรียบ
และในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 ไครสเลอร์ คอร์เปอเรชั่น ได้ผนวกกิจการกับเดมเลอร์-เบนซ์ และได้ตั้งเป็นบริษัทใหม่ คือ เดมเลอร์ไครสเลอร์ ซึ่งได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารใหม่ของจี๊ป ในปี 2542 แกรนด์ เชอโรกี ก็ปฏิวัติตลาดรถ SUV อีกครั้ง ด้วยรูปลักษณ์ใหม่ที่สะท้อนความหรูมีระดับมากขึ้น นวัตกรรมเทคโนโลยีล่าสุด อาทิ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบออนดีมานด์ ทำให้แกรนด์ เชอโรกี ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำที่แท้จริงของตลาดรถ SUV มาจนกระทั่งในปัจจุบัน
จี๊ปยุคปี 2000
- จี๊ป เชอโรกี ใหม่ออกตัวรับปี 2000
แม้เวลาจะผ่านไป 60 ปี แต่จี๊ปก็ยังคงเป็นแบรนด์ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของจี๊ปอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การรักษาความเป็นเลิศด้านสมรรถนะของการขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ แลความสามารถยอดเยี่ยมสำหรับการขับขี่บนทางราบ
จี๊ป เชอโรกีใหม่ เปิดตัวเป็นครั้งแรกที่งานนอร์ธ อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ โชว์ ประจำปี 2544 ที่เมืองดีทรอยท์ แสดงให้เห็นชัดเจนถึงปรัชญาดังกล่าว ที่ทำให้จี๊ป เชอโรกี มีความโดดเด่นมากในหมู่รถ SUV ขนาดเล็ก ด้วยสมรรถนะสูงในการขับขี่ในทุกสภาพและสถานการณ์ รวมทั้ง Rubicon Trail ที่มีชื่อเสียง
นอกจากนี้ เชอโรกี ยังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนทั่วไปที่นิยมรถ SUV มีระดับนอกเหนือไปจากแฟนจี๊ปกลุ่มเดิม เชอโรกี ยังคงรูปลักษณ์ของจี๊ปที่โดดเด่น สมรรถนะในการขับขี่บนทางเรียบ พื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวาง และความคล่องตัวปราดเปรียวจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด
ด้วยตำนานแห่งเอกลักษณ์และสมรรถนะเป็นเลิศ ชื่อ "จี๊ป" จึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียกรถ SUV ทั่วไปในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม "จี๊ป" เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของเดมเลอร์ไครสเลอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นในการรักษาความเป็นหนึ่งของจี๊ปในตลาดรถ SUV ต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://www.media.daimlerchrysler.com
แถลงข่าวโดย : บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
รายละเอียดเพิ่มเติม : เรืออากาศโทคันธนิธิ์ สุคนธทรัพย์
ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร. 676-6222 ต่อ 1200--จบ--
-อน-