กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก หรือ CFS ครั้งที่ 43 ณ กรุงโรม อิตาลี หารือแนวทางพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ ชู โครงการพระราชดำริและแนวทางปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่นให้แก่เกษตรกรไทย ตลอดจนการนำ Agri Map แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกเป็นเครื่องมือบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกพื้นที่
นายวินิต อธิสุข ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก หรือ CFS (Committee on Food Security) ครั้งที่ 43ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 17 - 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยการประชุม CFS ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ รวมถึงบทบาทของภาคปศุสัตว์ ในฐานะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระบบอาหารทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังได้มีการรับรองข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสร้างความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการรายย่อยในการเข้าสู่ตลาด ตลอดจนร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการของ CFS สำหรับปี 2561–2562 และการมีส่วนร่วมของCFS ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
ในการนี้ สศก. ได้นำเสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำริในเรื่องแหล่งอาหารโปรตีนของคนไทยมาช้านาน โดยได้ทรงนำโคนมเข้ามาในประเทศไทยเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว ตลอดจนยังได้พระราชทานส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแหล่งอาหารโปรตีนที่หลากหลาย เช่น ปลานิล สุกร ไก่ เป็นต้น และยังทรงพระราชทานแนวทางปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่นให้แก่เกษตรกรไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ ตลอดจนเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีความพร้อมในการเข้าสู่กลไกตลาด นอกจากนั้น ยังได้เผยแพร่การดำเนินงานของไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น การดำเนินงานเรื่องเชื้อดื้อยาในสัตว์ การดำเนินงาน Agri - Map และการจัดงานตลาดดิจิตอลเพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ตลาดสมัยใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ การประชุม CFS เป็นเวทีการประชุมของ FAO สำหรับการหารือและความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงอาหารของโลก ระหว่างรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งจะมีการประชุมเป็นประจำทุกปีที่กรุงโรม เพื่อติดตามนโยบายความมั่นคงอาหาร แบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิก ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเรื่องสำคัญต่างๆ ซึ่งไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคได้ต่อไป