“โค้ด” แฟรนไชส์วิดีโอไทย ต่างชาติแข่งดุ หวังตลาดวีซีดี

ข่าวทั่วไป Thursday October 5, 2000 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--ซี.โอ.ดี.อี.
“โค้ด” แฟรนไชส์วิดีโอของคนไทยแจ้งเกิด หวังอุดช่องโหว่ตลาด เผยธุรกิจวิดีโอลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อแฟรนไชส์จากต่างชาติเข้ามา ตลาดเริ่มแข่งขันกันดุ เมื่อผู้ผลิตเครื่องเล่นวีซีดีญี่ปุ่น และออสเตรเลีย งัดแคมเปญเอาเครื่องเล่นวิดีโอเก่ามาแลกเครื่องเล่นวีซีดี หวังครองตลาดวีซีดีในเมืองไทยให้เร็วที่สุด โค้ดทางออกใหม่ของนักลงทุนร้านวิดีโอ เลือกได้ทั้งซื้อแฟรนไชส์ และร่วมทุน เปิด 4 สาขาแรกก่อนสิ้นปีนี้ ปี 44 ตั้งเป้าขยาย 50 สาขา สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งกระเป๋าหนัก และเบา
นายสมหวัง มุรธาธัญลักษณ์ ผู้จัดการ ระบบแฟรนไชส์ บริษัท ซี.โอ.ดี.อี. จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านวิดีโอให้เช่าภายใต้ชื่อโค้ด (CODE) เปิดเผยกับ “เส้นทางเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันมีร้านให้เช่าแผ่นวีซีดีที่มาจากต่างประเทศมากมายกว่า 120 สาขา เข้ามาเปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะของกลุ่มนักลงทุนที่มาจากญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีช่องว่างทางการตลาดให้นักลงทุนที่สนใจเข้าไปสู่ธุรกิจนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวไทย ซึ่งโค้ดเองต้องการจะอุดช่องทางนี้
เดิมการลงทุนร้านวิดีโอให้เช่าต้องใช้งบลงทุนตั้งแต่ 2-5 ล้านบาท ถึง 10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันหากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนนี้คงจะเป็นไปได้ยากมาก ในอดีตร้านวิดีโอให้เช่าจะมีประมาณ 1,400-1,600 แห่งทั่วกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันร้านดังกล่าวได้ลดจำนวนลงรวดเร็วมาก กล่าวคือ เมื่อมีแฟรนไชส์ใหม่จากต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการ 1 ราย จะส่งผลให้ร้านวิดีโอที่ไม่มีแบรนด์ หรือร้านที่ลงทุนโดยนักลงทุนรายย่อยต้องปิดตัวลงไปประมาณ 4 แห่ง
“นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เงินทุนก็ไม่เพียงพอ เป็นโอกาสดีที่เราคิดว่า เราน่าจะหาทางออกให้ได้ จึงเป็นที่มาของแฟรนไชส์ร้านวิดีโอ โค้ด”
นายสมหวังกล่าวต่อว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านวิดีโอให้เช่า และคาดว่าปี 2544 คงจะเป็นปีสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจนี้ โดยจะเปลี่ยนจากร้านที่เน้นการให้เช่าม้วนวิดีโอมาเป็นร้านวีซีดีมากขึ้น ซึ่งขณะนี้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดจะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตเครื่องเล่นวีซีดีจากประเทศจีน และไต้หวันกำลังจัดแคมเปญนำเครื่องเล่นวิดีโอเทปเก่ามาแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องเล่นวีซีดี ทั้งนี้เพราะต้องการลดปริมาณเครื่องเล่นเทปแบบม้วนมาเป็นแผ่นวีซีดี เพื่อจะได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ของตนเองออกสู่ตลาดให้ได้มาก และครอบครองตลาดให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพราะขณะนี้ ม้วนวิดีโอยังครองสัดส่วนในตลาดสูงถึง 60% ส่วนแบบแผ่นวีซีดีมีอยู่ในตลาดเพียง 40% และเป็นสัดส่วนเช่า 90% และซื้อขาดเพียง 10% แต่เชื่อว่า แคมเปญที่ผู้ผลิตเครื่องเล่นวีซีดีงัดออกมาใช้ในครั้งนี้ จะทำให้สัดส่วนมีการสลับตำแหน่งกัน
สำหรับการลงทุนกับ CODE นั้น มี 2 ประเภทให้เลือกคือ 1. แบบซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการประกอบการอิสระด้วยตนเอง ภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้าของ CODE พร้อมกับการส่งเสริมการตลาด การจัดหาสินค้า การพัฒนาข้อมูลและบุคลากร และ 2. แบบร่วมทุนกับ CODE โดยการร่วมกันรับผิดชอบในแต่ละส่วน แล้วจัดสรรแบ่งรายได้จากยอดรายรับ
การลงทุนแบบซื้อแฟรนไชส์ จะมีรายจ่ายลงทุนดังนี้ ค่าแรกเข้า 200,000 บาท ค่าตกแต่งสถานที่พร้อมเฟอร์นิเจอร์ 800,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 200,000 บาท ค่าสินค้าแรกเข้าร้าน 1 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนอีก อาทิ ค่าดูแลและพัฒนาระบบฐานข้อมูล 2,000 บาท ค่าธรรมเนียม และการตลาด (คำนวณจากรายรับ) 5% ส่วนการลงทุนแบบร่วมทุน ค่าใช้จ่ายจะเหมือนกับแบบแรก เพียงแต่ค่าสินค้าเข้าร้านจะลดลงเหลือเพียง 100,000 บาท
“แต่หากผู้ลงทุนต้องการจะลงทุนในขนาดที่เล็กกว่านี้ก็ได้ ซึ่งคาดว่า จะใช้งบประมาณ 2-3 แสนบาท แต่ต้องหาสถานที่ที่เหมาะสม และต้องทุ่มเทให้กับธุรกิจอย่างจริงจัง ส่วนลิขสิทธิ์วีซีดี ทางบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เรามีเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ผู้บริโภคระบุเจาะจงจะเลือกใช้บริการจากร้านของเราเลย โดยไม่มีตัวเลือกอื่นอีก จึงให้มีเบอร์ Call center ไว้บริการลูกค้า ซึ่งลึกค้าสามารถโทรศัพท์เข้ามาสั่งเช่าหรือซื้อม้วนวีซีดี และวิดีโอ โดยผ่านเบอร์กลางนี้เพียงเบอร์เดียว แต่ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด”
นายสมหวังกล่าวต่อว่า บริษัทเตรียมการลงทุนขั้นต้นไว้ 20 ล้านบาท เพื่อการขยายร้านเช่าวิดีโอ-วีซีดี โดยตั้งเป้าจะเปิดสาขาแรกที่ซอยชินเขต ต่อด้วยซอยกรุงเทพฯ-นนท์ 25 และสุขาภิบาล 1 นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนด้วยระบบแฟรนไชส์อีก 1 สาขา ที่หมู่บ้านสัมมากร ถ.สุขาภิบาล 3 ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่า จะเปิดบริการได้ภายในปลายเดือนกันยายน-พฤศจิกายนนี้ ส่วนในปี 2544 บริษัทได้ตั้งเป้าจะขยายให้ได้ถึง 50 สาขา
จุดเด่นของ CODE คือ การเป็นแฟรนไชส์ของคนไทย ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้กับต่างประเทศ เน้นการใช้รูปแบบ สีสันและความทันสมัย เป็นคู่ค้ากับผู้ผลิตทุกรายที่มีสินค้าคุณภาพ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในสินค้า เน้นการใช้สื่อในแผนการทำประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ