กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย 8 จังหวัด 20 อำเภอ 116 ตำบล 571 หมู่บ้าน ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี โดยปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู เนื่องจากมีปริมาณฝนลดลง ส่วนพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ระดับน้ำทรงตัวและยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่ภาคใต้ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปภ. ได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว รวมถึงประสาน 7 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลากที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และดินสไลด์ใน 8 จังหวัด รวม 20 อำเภอ 116 ตำบล 571 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 1 จังหวัด 3 อำเภอ 12 ตำบล 48 หมู่บ้าน ได้แก่ พิจิตร เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอโพทะเล ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,916 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 63,660 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ภาคกลาง3 จังหวัด 10 อำเภอ 80 ตำบล 428 หมู่บ้าน ได้แก่ นครสวรรค์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะโก อำเภอหนองบัว อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง และอำเภอลาดยาว รวม 14 ตำบล 39 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,252 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 190 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 269,474 ไร่ อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 513 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,784 ไร่พระนครศรีอยุธยา น้ำจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่และอำเภอบางไทร รวม 64 ตำบล 374 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,946 ครัวเรือน ภาคตะวันตก 3 จังหวัด 6 อำเภอ 23 ตำบล 94 หมู่บ้าน ได้แก่ กาญจนบุรี น้ำจากลำน้ำภาชีล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย รวม 4 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 227 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,400 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร เพชรบุรี น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม รวม 9 ตำบล 43 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,890 ครัวเรือน ประจวบคีรีขันธ์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก และอำเภอหัวหิน รวม 10 ตำบล 44 หมู่บ้าน ภาคใต้ 1 จังหวัด 1 อำเภอ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำไหลหลาก เข้าท่วมในพื้นที่อำเภอวิภาวดี ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน โดยปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือเริ่มคลี่คลาย และหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู เนื่องจากปริมาณฝนลดลง ส่วนพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ระดับน้ำทรงตัวและยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่ภาคใต้ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้ลำน้ำสายสำคัญมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศ พื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนบนและอ่าวไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 7 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และภูเก็ต ให้เฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลากที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต ชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสาน ให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป