กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· กสอ.มั่นใจ 5 อุตสาหกรรมยังแรงในเมียนมาร์ เร่งปั้นกลุ่มผู้ประกอบการใน 10 จังหวัด ตอบความต้องการตลาด
กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ในภาคตะวันตกรับการเติบโตเศรษฐกิจของสหภาพเมียนมาร์ หลังพบมีการขยายตัวของ GDP ในปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 7.8 พร้อมเตรียมส่งเสริม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศเมียนมาร์มีความต้องการจากภูมิภาคดังกล่าวของไทยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ด้วยการใช้ข้อได้เปรียบจากความหลากหลายทางทรัพยากร ความเพียบพร้อมในระบบคมนาคมขนส่ง มาพัฒนาเพื่อการส่งออกและขยายการลงทุน พร้อมนำร่องจัด "มหกรรมวันนัดพบผู้ประกอบการ" เพื่อเป็นการสร้างความรู้และพัฒนาขีดความสามารถให้ผู้ดำเนินธุรกิจมีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมทั้งก่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรมและมุ่งไปสู่การพัฒนาในระดับภูมิภาคอย่างทั่วถึง
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย มีอัตราการขยายตัวที่สูง รวดเร็ว และอยู่ในระดับที่ต่อเนื่อง เนื่องจากความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรรวมถึงคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในเกณฑ์ดีได้มาตรฐานสากล จึงทำให้การส่งออกสินค้าของไทยสามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสหภาพเมียนมาร์ถือเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจและนิยมส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ถือเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องด้วยการเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่มีการเติบโตในปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 7.8 รวมถึงพื้นที่ของประเทศที่ยังมีทรัพยากรจำนวนมาก การคมนาคมที่สะดวกต่อการขนส่งในเขตชายแดน ประกอบกับนโยบายการพัฒนาประเทศและอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร จึงทำให้ความต้องการสินค้าที่ผลิตและมีคุณภาพต่าง ๆ จากประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากความต้องการในด้านเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีภาคอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 5 แสนราย ดังนั้น การจะประกอบธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศกับเมียนมาร์จึงยังสามารถทำได้อีกมาก ซึ่งจะช่วยประหยัดในเรื่องค่าแรงงานที่ลดลงรวมถึงส่งผลดีในเรื่องช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว พร้อมทั้งเป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือและการช่วยเหลือกันได้ต่อไป ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็มีกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาคตะวันตกที่รองรับและสนับสนุนต่อความต้องการเหล่านั้นได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยและได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่งอื่นที่อยู่ไกล ประกอบกับการมีแหล่งทรัพยากรและระบบการคมนาคมขนส่งเป็นหัวใจหลัก ซึ่งในอนาคตจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นเส้นทางสู่การลงทุน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตหลักที่มีศักยภาพรองรับผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง
นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันภาคตะวันตกมีจำนวน SMEs มากกว่า 230,000 กิจการ (ที่มา สสว.) ในจำนวนนี้มีอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและเป็นที่ต้องการในเมียนมาร์ทั้งหมด 5อุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและสาธารณูปโภค 2.อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 3.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 4. อุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร และ 5.อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีอัตราการผลิตและเติบโตเป็นจำนวนมากในภูมิภาคตะวันตก และผู้บริโภคส่วนใหญ่ในเมียนมาร์ให้การยอมรับในด้านคุณภาพและนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี และในปีที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังพม่าได้กว่า 1 แสนล้านบาท (กรมการค้าต่างประเทศ) จากจำนวนประชากรของพม่าในปัจจุบันที่มีมากกว่า 60 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสัญญาณทางการค้าที่ดีที่จะช่วยให้ช่องทางในการส่งออกสินค้า มีการขยายตัวไปในตลาดใหม่ ๆ นอกเหนือจากตลาดเดิม และถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อให้เกิดยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่า กลุ่ม SMEs ในภาคตะวันตกจะสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตเพื่อรองรับและมีส่วนเอื้อให้สามารถขยายการส่งออกสินค้าจาก 5 อุตสาหกรรมดังกล่าวในตลาดเมียนมาร์ได้เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่มีในภูมิภาค ทั้งทรัพยากรที่เพียบพร้อมศักยภาพและกำลังในการผลิตที่เข้มแข็ง และการดึงประโยชน์จากการเป็นเขตติดต่อชายแดนในการขนส่งสินค้านำมาพัฒนาเพื่อการส่งออก และมุ่งขยายสู่การลงทุนต่อไปได้ในอนาคตอันใกล้
ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กำหนดจัด "มหกรรมวันนัดพบผู้ประกอบการภาคตะวันตก" กิจกรรมการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่อการส่งเสริม SMEs และ OTOP จากหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "พลิกธุรกิจ SMEs สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0" การบรรยายพิเศษเรื่อง "กลยุทธ์ธุรกิจพิชิตการตลาดยุคใหม่ใน Industry 4.0" และการเสวนา "ผู้ประกอบการไทยพร้อมหรือไม่ในยุคการเปลี่ยนสู่ดิจิทัล" ในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมไมด้า ทวารวดีแกรนด์ จ.นครปฐม เพื่อเป็นการสร้างความรู้และพัฒนาขีดความสามารถให้ผู้ดำเนินธุรกิจมีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมทั้งก่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรมและมุ่งไปสู่การพัฒนาในระดับภูมิภาคอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการจะสามารถนำอรรถประโยชน์ต่างๆ ที่ดีไปพัฒนาศักยภาพ และนำพาความเข้มแข็งสู่ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้ต่อไปในอนาคต นายพรเทพ กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.035 441 031 หรือwww.dip.go.th