กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--PMG Group
เรามาดู 5 วิธีที่เอสเอ็มอี สามารถใช้การประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจ
1. ประกันภัยทรัพย์สิน ป้องกันอัคคีภัยและน้ำท่วม
ในช่วงปลายฤดูฝนเช่นปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจมีความกังวลถึงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นคือ เรื่องน้ำท่วม เมื่อปี 2554 ประเทศไทยได้เผชิญกับมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจมากกว่า 4 แสนล้านบาท ธุรกิจเอสเอ็มอีหลายรายต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ บางรายถึงกับต้องล้มละลายไป นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมายังมีข่าวไฟไหม้ในหลายพื้นที่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกเช่นกัน ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงควรศึกษาเรียนรู้การทำประกันภัยทรัพย์สิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับธุรกิจ
2. ประกันภัยรถยนต์ ลดความเสี่ยง
ประกันภัยอีกกลุ่มเอสเอ็มอีต้องให้ความสำคัญคือ การประกันภัยรถยนต์ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า "รถกระบะ" ในการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า SME หลายรายต้องใช้รถยนต์หลายคัน เพื่อส่งสินค้าให้ทันในแต่ละวัน
การที่แต่ละธุรกิจต้องใช้ขนส่งทั้งรูปแบบของการจัดส่งเอกสารหรือส่งของไปยังลูกค้าต่างๆ เอสเอ็มอีจึงต้องเรียนรู้การทำประกันภัยรถยนต์ให้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ การเฉี่ยว ชน หรือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่ 3 เพราะทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุนั้น หมายถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งบ่อยครั้งมักพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่าถึงหลักหมื่นหรือหลักแสนบาท ถ้าไม่มีการทำประกันภัยไว้ นั่นหมายถึงธุรกิจจะต้องรับภาระและความเสียหายที่เกิดขึ้น
3. การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
เป็นการทำประกันภัยที่ต่อยอดจากการประกันภัยทรัพย์สิน แต่เน้นที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะหยุดชะงักของธุรกิจ เช่น ไม่สามารถดำเนินธุรกิจ ไม่สามารถผลิต หรือไม่สามารถจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้ตามกำหนดเวลาที่ตกลง โดยเป็นผลมาจากอุบัติภัย หรือภัยธรรมชาติ
เช่น โรงงานทอผ้าแห่งหนี่ง ทำประกันอัคคีภัยโรงงาน ไว้เต็มตามมูลค่าของทรัพย์สิน ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ ทำให้โรงงานเสียหาย 50% บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง 50% นั้น และหากพิจารณาต่อไปว่า ขณะที่รอการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและซ่อมแซมโรงงานนั้น การผลิตก็จะหยุดชะงักลงซึ่งเป็นผลเสียหายสืบเนื่องจากเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือ ยอดรายได้ของเจ้าของโรงงานลดลง ค่าใช้จ่ายในส่วนที่ยังคงต้องจ่ายแม้จะไม่มีการผลิต เช่น ค่าเงินเดือน ค่าดอกเบี้ย ค่าเช่า เป็นต้น แต่ค่าใช้จ่ายบางส่วนจะลดลง ได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน เป็นต้น ส่วนนี้เป็นส่วนที่ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะเข้ามาชดเชย
ดังนั้น การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเจ้าของธุรกิจอย่างมาก
4. ประกันสุขภาพพนักงาน หรือ ประกันสังคม
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น หรือมีลูกจ้างเป็นจำนวนมากคงเห็นความสำคัญของการที่พนักงานเกิดการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ธุรกิจสะดุดจากการขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังมีผลไปถึงสวัสดิภาพของพนักงานอีกด้วย
ดังนั้นเอสเอ็มอีที่ใส่ใจชีวิตและความสุขของพนักงาน จึงมักจะทำประกันสุขภาพ หรือทำประกันสังคมให้กับพนักงาน ซึ่งประกันสุขภาพหรือประกันสังคมนี้ จะเป็นส่วนเติมเต็มให้พนักงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหากเจ็บป่วยก็วางใจได้ว่าพนักงานจะได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
5. ประกันชีวิตสำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการ
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและแบ่งเบาภาระทางธุรกิจให้กับครอบครัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้บริหารคนสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปแบบไม่สะดุด การทำประกันชีวิตสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริการ คือรากฐานความสำคัญของความมั่นคงในการทำธุรกิจ หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น หรือธุรกิจต้องเผชิญกับเรื่องที่ไม่คาดคิด ธุรกิจก็ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความคุ้มครองจากการทำประกันชีวิต จึงเป็นการการันตีว่า แม้เกิดสิ่งไม่คาดฝันขึ้นธุรกิจจะไม่ซวนเซจนล้มละลาย