กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดินหน้าขยายผลป้องกันเหตุสารเคมีรั่วไหลซ้ำรอย สั่งตรวจสอบ สถานประกอบกิจการที่ใช้สารแอมโมเนีย ๓,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ พร้อมเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดเหตุสารแอมโมเนียรั่วไหลของโรงงานผลิตอาหารไก่ปรุงสำเร็จแช่แข็งในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างมีอาการระคายเคืองตาและจมูก ๕๑ คน นั้น กสร. เป็นห่วงลูกจ้างในสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ที่มีการใช้สารแอมโมเนียในกระบวนผลิต อาทิ กิจการอาหารแช่แข็งการถนอมอาหาร การผลิตน้ำแข็ง การทำไอศกรีม อุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตเป็นใยสังเคราะห์ ผลิตปุ๋ย เป็นต้น โดยกิจการในกลุ่มดังกล่าวทั่วประเทศ มีประมาณ ๓,๐๐๐ แห่ง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดเหตุรั่วไหลของสารได้ หากมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุเช่นนี้กับสถานประกอบกิจการอื่น ๆ อีก กสร. ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการตรวจสอบ กำกับ ดูแล ให้สถานประกอบกิจการทั้งสามพันแห่งทั่วประเทศปฏิบัติตามกฎกระทรวงข้างต้นอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นให้นายจ้าง ลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานและควบคุมอย่างจริงจัง ทั้งในภาวะปกติหรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ นายจ้างต้องแจ้งข้อมูลเคมีภัณฑ์ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่มีการครอบครอง และแจ้งให้ลูกจ้างทราบและเข้าใจข้อมูลสารเคมี และมีมาตรการควบคุมให้ลูกจ้างปฏิบัติตาม และอื่น ๆ ตามที่กฎกระทรวงกำหนด
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า สารแอมโมเนีย เป็นสารเคมีอันตรายตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการและการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา ผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ และหากสัมผัสในปริมาณที่มากทำให้หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก ตาบอด ปอดบวม ขาดอากาศหายใจและตายได้ ทั้งนี้ค่าความเข้มข้นในบรรยากาศการทำงาน ตลอดการทำงาน ๘ ชั่วโมง ไม่เกิน ๒๕ ส่วนในหนึ่งล้านส่วนของอากาศ (ppm.) หากมีปริมาณความเข้มข้นสูงถึง moc ppm. อาจทำให้ตายได้ ในกรณีสารแอมโมเนียเกิดการรั่วไหล ให้พยายามหยุดรอยรั่วโดยต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ระบายอากาศบริเวณนั้นและฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อลดการแพร่กระจาย ถ้ารั่วปริมาณมากให้อพยพลูกจ้างออกนอกพื้นที่ ภายใน ๓๐ นาที และห้ามบุคคลที่ไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจเข้าในบริเวณเกิดเหตุโดยเด็ดขาด