แสนสิริสรุปภาพรวมตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ช่วงเดือน เม.ย-ก.ย 2544

ข่าวทั่วไป Wednesday December 19, 2001 16:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--แสนสิริ
ตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมานี้ (เม.ย-ก.ย 2544) เริ่มชะลอตัวลง ทั้งๆที่ยังมิได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายนที่สหรัฐโดนโจมตีเท่าใดนัก ความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ขยับตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่อุปทาน และภาวะการก่อสร้างของตลาดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยและมาตรการต่างๆของภาครัฐยังมิได้ส่งผลบวกอย่างเห็นชัดนักต่อยอดขายบ้านโดยรวม จากจำนวนโครงการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 128 โครงการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ ก.ย-44 นั้น พบว่าขายบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ได้รวมกันทั้งสิ้น 639 หน่วย หรือคิดเป็นยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หน่วยต่อโครงการต่อเดือน นับว่าเริ่มลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งแรกหลังจากที่ฟื้นตัวมาแล้วถึงสี่ช่วงของเวลาการสำรวจทุกๆหกเดือนตั้งแต่ ก.ย-42 แต่อย่างไรก็ตาม หากดูเป็นรายพื้นที่ พบว่าความต้องการซื้อหรือยอดขายในเขตตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตที่มีการแข่งขันต่ำนั้นขยับตัวดีขึ้นอย่างมาก และจากจำนวนหน่วยที่ขายได้ทั้งหมดนั้น นับเป็นบ้านเดี่ยวมากกว่าทาวน์เฮาส์ โดยมีสัดส่วนถึง 73% สำหรับการเคลื่อนไหวด้านอุปทานในช่วงเวลาหกเดือนที่ผ่านมา (เม.ย-ก.ย 2544) นั้น พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีโครงการที่ขายหมดและออกจากตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 11 โครงการแล้ว แต่ก็ยังมีโครงการหลักๆเปิดตัวใหม่รวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 10 โครงการ ในขณะเดียวกันก็มีหลายโครงการที่ดำเนินการขายอยู่ได้ขายบ้านจากการพัฒนาในเฟสเดิมหมดลง และได้เริ่มทยอยเอาบ้านในเฟสใหม่ออกมาขาย ทำให้ปริมาณอุปทานนั้นเข้าสู่ตลาดอีก ดังนั้นจำนวนบ้านเหลือขายเฉลี่ยจึงขยับเพิ่มขึ้นเป็น 86 หน่วยต่อโครงการ ส่วนภาวะการก่อสร้างในเดือน ก.ย-44 นี้ ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความนิยมในการซื้อบ้านพร้อมอยู่ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 22 หน่วยต่อโครงการในเดือน มี.ค-4 เป็น 23 หน่วยต่อโครงการ
แนวโน้ม
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายนนั้นยังมิได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดบ้านที่ผ่านมาเท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือน หลายโครงการเริ่มมียอดขายที่ลดลง เนื่องจากความไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ภายในต้นปี 2545 คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยภาคการลงทุน และการใช้สอยของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ลดลงอีก ในขณะที่อัตราการว่างงานจะสูงขึ้น ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดตัวเลขการคาดการณ์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2544 ลงอีก คือจาก 4.0-4.5% ที่คาดไว้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2543 เหลือ 3.0-4.5% และลงอีกเหลือเพียง 1.3-1.8% ในปัจจุบัน และจากการคาดการณ์ของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม อัตราการว่างงานภายในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด หรือจะมีคนว่างงานรวมกันทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็คาดว่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากปัญหาใหญ่คือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ ดังนั้นยอดขายเฉลี่ยต่อโครงการคาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ลดลง และการแข่งขันในปีหน้าจะต้องสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าจะได้เปรียบ
อุปทาน - จำนวนบ้านเหลือขายในตลาด
(ตารางที่ 1) ในช่วงเวลาหกเดือนที่ผ่านมา (เม.ย-ก.ย 2544) อุปทาน หรือปริมาณที่อยู่อาศัยที่ขายอยู่ในตลาดนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานียังคงเป็นสองพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงสุด ในช่วงเวลาหกเดือนนี้ พบโครงการเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 โครงการ โดยวางแผนว่าจะผลิตบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ออกสู่ตลาดจำนวนรวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 1,100 หน่วย ซึ่งนับว่ามากกว่าในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาที่มีโครงการหลักๆเปิดตัวใหม่เพียงประมาณ 6 โครงการ โครงการใหม่เหล่านี้ได้มุ่งพัฒนาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครมากกว่าในจังหวัดปริมณฑล โดยที่พื้นที่ทางตอนเหนือมีเปิดใหม่สองโครงการ คือบ้านอารียา ลาดพร้าว 71 บ้านรัชดา ลาดพร้าว 80 พื้นที่ทางตะวันออกมีเปิดใหม่อีก 2 โครงการเช่นกัน ได้แก่ มัณฑนา พระราม 9-วงแหวน ถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ และนันทวัน สุขุมวิท ถนนอ่อนนุช 44 ส่วนพื้นที่ทางตะวันตกมีเปิด 1 โครงการ เป็นโครงการที่ได้หยุดการขายไปแล้วระยะหนึ่ง คือบ้านสวนพุทธมณฑล ถนนพุทธมณฑลสาย 1 สำหรับพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการแข่งสูงอยู่แล้วก็มีโครงการเปิดตัวเพิ่มอีกถึง 3 โครงการ ได้แก่ บ้านรามอินทรา ถนนพระยาสุเรนทร์ และเคซี พาร์ควิลล์ บนถนนคลองสามวา เพอร์เฟคเพลส เลคไซด์ ถนนรามคำแหง ส่วนพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดปริมณฑลนั้น ปทุมธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากที่สุด เป็นจังหวัดเดียวที่ยังคงมีโครงการหลักเปิดตัวใหม่อีก ได้แก่ บ้านฟ้ากรีนพาร์ค บนถนนรังสิต-คลองสอง ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกซื้อมาพัฒนาใหม่จากโครงการเก่า และโครงการมณียาเลคลากูน ถนนรังสิต-ปทุมธานี
ในขณะที่มีโครงการเปิดตัวใหม่สู่ตลาด ก็พบว่ามีโครงการเก่าที่จบการขายทั้งสิ้นประมาณ 11 โครงการ ซึ่งรวมถึง บ้านกลางเมือง ลาดพร้าว ซึ่งเป็นโครงการทาวน์เฮาส์ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีจำนวนหลังทั้งหมด 114 หน่วย ในขณะเดียวกันก็มีโครงการที่เตรียมตัวจะจบการขายอีกประมาณ 4 โครงการ
(ตารางที่ 2) จากโครงการที่ทำการสำรวจทั้งหมดจำนวน 128 โครงการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าบ้านเดี่ยวเป็นรูปแบบที่มีความนิยมในการพัฒนาจากผู้ประกอบการหลักๆ มากกว่าทาวน์เฮาส์ โดยมีโครงการที่เสนอขายบ้านเดี่ยวทั้หมด 111 โครงการ ในขณะที่มีโครงการเสนอขายทาวน์เฮาส์เพียง 44 โครงการ นอกจากนี้ โครงการที่เปิดตัวใหม่ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา (เม.ย-ก.ย 2544) ก็มุ่งการพัฒนาไปที่บ้านเดี่ยวทั้งหมด
(ตารางที่ 3) ประมาณการว่าจาก 128 โครงการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ยังมีบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เหลือขายทั้งหมด 11,047 หน่วย คิดเป็นจำนวนบ้านเหลือขายเฉลี่ยที่ 86 หน่วยต่อโครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 78 ในระยะหกเดือนก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมานับว่ามีหลายโครงการที่ขายบ้านในเฟสเก่าหมด และปัจจุบันได้นำเอาบ้านที่วางแผนไว้ในเฟสใหม่ออกมาขายเพิ่มขึ้น บ้านที่อยู่ระหว่างการขายส่วนใหญ่นี้ยังคงกระจายอยู่ในพื้นที่ปริมณฑล ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 6,274 หน่วย โดยที่จังหวัดปทุมธานียังคงเป็นพื้นที่ที่มีบ้านอยู่ระหว่างการขายหนาแน่นที่สุด (2,751 หน่วย) นอกจากนี้ บ้านเดี่ยวก็ยังคงเป็นที่นิยมในการพัฒนามากกว่าทาวน์เฮาส์ (8,838 หน่วย) และทาวน์เฮาส์ก็ยังคงมีการขายในพื้นที่เขตปริมณฑลมากกว่าในกรุงเทพฯ
นอกจาก 11,047 หน่วยที่อยู่ระหว่างการขายนี้ 33 จาก 128 โครงการที่ทำการสำรวจยังมีที่ดินเหลือเพื่อการพัฒนาในอนาคตอีก โดยประมาณการว่ามีบ้านในแผนทั้งหมดอีก 4,600 หน่วยที่เตรียมจะเปิดขายทันทีที่การขายบ้านในเฟสเดิมใกล้หมด
(ตารางที่ 4) การซื้อบ้านพร้อมอยู่นับว่าได้รับความนิยมในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีจำนวนโครงการที่เสนอขายบ้านพร้อมอยู่ทั้งสิ้น 50 โครงการ จาก 128 โครงการที่ทำการสำรวจในเดือน ก.ย-44 และจากจำนวนบ้านเหลือขายทั้งหมด 11,047 หน่วย นับเป็นบ้านที่สร้างแล้วเสร็จพร้อมอยู่ทั้งสิ้น 369 หน่วย หรือคิดเป็นการขายบ้านพร้อมอยู่เฉลี่ยทั้งสิ้น 7 หน่วยต่อโครงการ ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 6 หน่วยต่อโครงการในการสำรวจในเดือน มี.ค-44 และจาก 5 หน่วยในเดือน ก.ย-43
อุปสงค์ - ปริมาณความต้องการที่อยู่อาศัย
(ตารางที่ 5) ความต้องการที่อยู่อาศัยในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา (เม.ย-ก.ย 2544) เริ่มเติบโตในอัตราที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จากจำนวนโครงการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 128 โครงการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายในเดือน ก.ย-44 ประมาณว่าขายบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์รวมกันได้ทั้งสิ้น 639 หน่วย คิดเป็นยอดขายเฉลี่ยที่ 5 หน่วย ต่อโครงการต่อเดือน ลดลงจากยอดขายเฉลี่ยที่ 6 หน่วย ณ หกเดือนก่อนหน้านี้ (มี.ค-44) ซึ่งนับว่าเป็นการลดลงครั้งแรกหลังจากที่ตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันถึงสี่ช่วงการสำรวจทุกๆหกเดือน ตั้งแต่เฉลี่ย 3 หน่วยต่อโครงการต่อเดือนใน ก.ย-42
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละพื้นที่ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงต่างกัน พื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานครนั้นเป็นพื้นที่ที่พบว่าความต้องการซื้อมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันต่ำ ในขณะที่มีโครงการคุณภาพเปิดตัวใหม่มากระตุ้นความต้องการซื้อของตลาดได้เป็นอย่างดีถึงสองโครงการ ทำให้ยอดขายเฉลี่ยของเขตนี้เพิ่มขึ้นจากเพียง 5 หน่วยต่อโครงการต่อเดือนใน มี.ค-44 เป็น 16 หน่วยใน ก.ย-44 ซึ่งมากกว่ายอดขายเฉลี่ยที่พื้นที่อื่นๆทำได้ที่ช่วงระหว่าง 3-7 หน่วยต่อโครงการต่อเดือน ในจำนวนพื้นที่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครนั้น พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเป็นพื้นที่ที่ขายบ้านได้เป็นจำนวนมากที่สุด คือ 110 หน่วยต่อเดือน จากจำนวนที่ขายได้ทั้งหมด 334 หน่วยในเขตกรุงเทพฯ และทั้งๆที่มีโครงการเปิดตัวใหม่ในพื้นที่นี้ถึงสามโครงการ ตัวเลขยอดขายเฉลี่ยต่อโครงการต่อเดือนก็สามารถทรงตัวอยู่ได้ที่ 4 หน่วย สำหรับเขตพื้นที่ชั้นใน คือทางตอนเหนือที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองมากที่สุด ก็ยังมีความต้องการซื้อบ้านอยู่มาก โครงการเปิดตัวใหม่ในพื้นที่นี้ทั้งสองโครงการสามารถทำยอดขายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยหลักที่มีส่วนช่วยคือโครงการถนนตัดใหม่สองโครงการ ได้แก่ ถนนเกษตร-สุขาภิบาล 1 และ ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ซึ่งเห็นได้ว่าในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา พื้นที่ในบริเวณเชื่อมต่อของถนนทั้งสองโครงการนี้จะเป็นที่นิยมสำหรับผู้ประกอบการ ส่วนพื้นที่ในเขตปริมณฑลนั้น ปทุมธานียังคงเป็นจังหวัดที่มียอดขายสูงสุด ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 162 หน่วยต่อเดือน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในจำนวนพื้นที่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ถึงแม้ว่าตัวเลขยอดขายเฉลี่ยต่อโครงการจะลดลงอย่างมากจาก 12 หน่วยต่อโครงการ ณ มี.ค-44 ลงเหลือเพียง 6 ในก.ย-44
(ตารางที่ 6) จากยอดขายรวมทั้งหมด 639 หน่วยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าความต้องการบ้านเดี่ยวมีปริมาณมากกว่าทาวน์เฮาส์ โดยสามารถขายบ้านเดี่ยวได้ทั้งสิ้น 472 หน่วย แต่ทาวน์เฮาส์จะขายได้ในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลมากกว่าในกรุงเทพมหานคร
(ตารางที่ 7) ถึงแม้ว่าความต้องการที่อยู่อาศัยโดยรวมจะลดลง แต่จากการศึกษาความเคลื่อนไหวด้านยอดขายของแต่ละโครงการ พบว่าสัดส่วนโครงการที่ขายไม่ได้เลย คือ 0 หน่วยต่อเดือนนั้นลดลงจาก 11% ของจำนวนโครงการที่สำรวจในเดือน มี.ค-44 เหลือ 8% ในเดือน ก.ย-44 เนื่องจากโครงการที่เดิมค่อนข้างเงียบจากปัญหาด้านเงินทุน ได้ทยอยแก้ปัญหา และเริ่มใช้กลยุทธ์บ้านพร้อมอยู่เพื่อสร้างความต้องการซื้อได้ แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนโครงการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก (คือมียอดขายเฉลี่ยมากกว่า 20 หน่วยต่อโครงการต่อเดือนขึ้นไปนั้น) ก็มีสัดส่วนที่ลดลงจากเดือนมี.ค-44 เช่นกัน โดยลดลงเหลือ 4% อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่โครงการส่วนใหญ่ทำได้นั้นยังคงตกอยู่ในกลุ่มที่ขายได้เฉลี่ย 1-4 หน่วยต่อโครงการต่อเดือน คิดเป็น 56% ซึ่งเพิ่มขึ้น 2% นอกจากนี้ จากโครงการที่ทำการสำรวจทั้งสิ้น 128 โครงการ พบว่าประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 53% รายงานว่าทำยอดขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับยอดขายเฉลี่ยที่ทำได้ในช่วง มี.ค-44
ภาวะการก่อสร้าง
(ตารางที่ 8) ในขณะที่ยอดขายบ้านโดยรวมในเดือน ก.ย-44 ลดลง แต่ภาวะการก่อสร้างก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความนิยมในการซื้อบ้านพร้อมอยู่ จาก 128 โครงการที่ทำการสำรวจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือน ก.ย-44 พบว่ามีบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างทั้งหมดเกือบ 3,000 หน่วย คิดเป็นจำนวนบ้านกำลังก่อสร้างเฉลี่ยที่ 23 หน่วยต่อโครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดเฉลี่ยที่ 22 หน่วยในหกเดือนที่แล้ว (มี.ค-44)
(ตารางที่ 9) ในจำนวนบ้านที่กำลังก่อสร้างทั้งหมดนั้น บ้านเดี่ยวยังคงมีมากกว่าทาวน์เฮาส์ ด้วยสัดส่วน 69% หรือ 2,068 หน่วย พื้นที่ทางตะวันออก และทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างมากที่สุด ตามสัดส่วนยอดขายที่ทำได้มากที่สุด โดยจำนวนบ้านที่กำลังก่อสร้างของทั้งสองเขตนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 43 และ 41 หน่วยต่อโครงการ ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าเขตอื่นๆ ที่มียอดก่อสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ 12-31 หน่วย
สำหรับโครงการที่มียอดบ้านก่อสร้างมากที่สุด พบในเขตจังหวัดปทุมธานี โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 256 หน่วย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ถึง 210 หน่วย ซึ่งนับว่าน้อยกว่ายอดสูงสุดของเดือน มี.ค-44 ที่มีถึง 336 หน่วย ส่วนโครงการบ้านเดี่ยวนั้น ยอดก่อสร้างสูงสุดพบในพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 93 หน่วย
ราคาบ้านเดี่ยวขนาด 50 ตารางวา
(ตารางที่ 10) ราคาบ้านเดี่ยวขนาด 50 ตารางวาที่พบต่ำที่สุดจากโครงการที่ทำการสำรวจในเดือน ก.ย-44 นั้น อยู่ที่ 1.39 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดือน มี.ค-44 ที่อยู่ที่ 1.69 ล้านบาท โดยเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ทั้งสองช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว ความต้องการซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีผลทำให้ราคาบ้านที่เสนอขายต่ำสุดในหลายๆพื้นที่ได้ขยับตัวสูงขึ้น โดยมีการพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้นและมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับพื้นที่ที่พบบ้านขนาด 50 ตารางวาสูงที่สุดจะอยู่ทางตอนเหนือ ตะวันตก และทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันน้อย โดยราคาต่ำสุดที่เสนอขายนั้นสูงกว่า 3.0 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าบ้านขนาดเดียวกันที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปริมณฑล ที่มีราคาอยู่ในช่วง 1.48-1.95 ล้านบาท
จากการศึกษาการเคลื่อนไหวของราคาบ้านในสองช่วงเวลาเปรียบเทียบ คือระหว่าง มี.ค-44 และ ก.ย-44 พบว่าโครงการโดยส่วนใหญ่ (20 จากทั้งหมด 45 โครงการที่มีข้อมูลสามารถเปรียบเทียบได้) นั้นเสนอขายบ้าน ณ เดือน ก.ย-44 ในราคาที่สูงขึ้นจากเดือน มี.ค-44 สำหรับบ้านขนาดเดียวกัน (เช่น บ้าน 70 ตารางวาเหมือนกันทั้งสองช่วงเวลา) ในขณะที่อีก 16 โครงการรายงานว่าราคาคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง และที่เหลืออีก 9 โครงการเสนอราคาที่ลดลง--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ