อย.เตือนผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้...ต้องใหม่ สด-ผลิตวันต่อวัน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2001 11:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--อย.
อย. เตือนผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้บรรจุขวดพร้อมจำหน่าย ขออนุญาตกับ อย.ให้ถูกต้องและตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2544 ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP ทันที ส่วนรายเก่าให้เวลาปรับปรุงสถานที่ผลิต 2 ปี พร้อมเตือนเรื่องความสะอาด หากพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษปนเปื้อน ผู้ผลิตต้องรับโทษตามกฎหมาย
ภญ.ฉันทนา จุติเทพารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้เป็นจำนวนมาก เช่น น้ำส้มคั้น น้ำเฉาก้วย น้ำเสารส น้ำแครอท เป็นต้นโดยทำเป็นกิจการในครัวเรือนที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน และมักบรรจุในขวดพลาสติก หรือขวดแก้ววางขายตามตู้แช่ร้านค้าทุกระดับ ตั้งแต่ร้านขายของชำจนถึงซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มักได้รับร้องเรียนถึงความไม่สะอาดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่เนืองๆ จึงออกตรวจสอบเพื่อเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามีบางตัวอย่างไม่ผ่านมาตรฐานตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่นพบยีสต์ เชื้ออีโคไล ซึ่งตามกฎหมายต้องไม่พบ หรือพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เป็นต้น ซึ่ง อย. ขอแจ้งให้ผู้ผลิตทราบว่าตามกฎหมายแล้วเครื่องดื่มดังกล่าว จัดเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท และเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามี่กฎหมายกำหนด รวมทั้งสถานที่ผลิต ภาชนะบรรจุ และการแสดงฉลาก ต้องอยู่ในความกำกับดูแลของ อย. โดยเฉพาะในส่วนของสถานที่ผลิตนั้น ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP ทันที ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนต้องปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ได้ตามเกณฑ์ GMP ภายใน 2 ปี ซึ่งเกณฑ์ GMP นี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตน้ำผลไม้ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ จึงขอให้ผู้ผลิตที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โปรดปฏิบัติให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ในการผลิตน้ำผลไม้ ควรผลิตวันต่อวัน อย่านำน้ำผลไม้สดค้างวันมาจำหน่าย เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร หาก อย. ตรวจพบว่ามีเชื้อโรคอาหารเป็นพิษปนเปื้อนจะถูกดำเนินคดีอย่างเข้มงวด เพราะถือเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งที่ผ่านมา อย. ได้ลงโทษทางกฎหมายอย่างจริงจัง กับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายรายแล้ว และจะทำการตรวจสอบผู้ที่กระทำผิดต่อไป
ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้บริโภค ขอให้เลือกซื้อเครื่องดื่มดังกล่าวอย่างระมัดระวังต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาใหม่ๆ ภาชนะบรรจุต้องสะอาด ไม่มีคราบสกปรก รวมทั้งขอให้สังเกตรายละเอียดบนฉลากอย่างน้อยต้องมีข้อความภาษาไทย เช่น ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ส่วนประกอบ ปริมาตรสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีที่หมดอายุ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิตขายเครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่น่าสงสัยจะไม่มีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ผ่านการพิจารณาอนุญาตจาก อย. ขอให้แจ้งร้องเรียนมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 590-7354-5 สำหรับในส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ--จบ--
-นห-

แท็ก น้ำผลไม้   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ