กระทรวงดิจิทัลฯ ชงคณะกรรมการ DE เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ฯ เดินหน้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 4, 2016 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--ฟร้อนท์เพจ คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันก้าวทันเวทีโลก สร้างโอกาสและเท่าเทียมทางสังคม พัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัล ปฏิรูปภาครัฐเพื่อก้าวสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดท.) ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2560-2564) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/2559 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ในการประชุมครั้งนี้แผนปฏิบัติการนี้จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศระดับกลาง ที่แปลงแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว 20 ปี ไปสู่การปฏิบัติในระยะ 5 ปี และจะใช้เป็นแผนอ้างอิงสำหรับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของหน่วยงานและจัดทำคำของบประมาณประจำปีต่อไป สำหรับร่างแผนปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก เพื่อกำหนดกิจกรรมที่สำคัญที่ต้องมีการดำเนินงานในระยะสั้น (ภายใน 1 ปี 6 เดือน) และระยะกลาง (ภายใน 5 ปี) และแนวทางการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายของแต่ละยุทธศาสตร์ และเป้าหมายของการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ประการที่สอง เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นเอกภาพ โดยให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐและสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และประการที่สาม เพื่อให้มีเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สามารถนำมาใช้ในการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องรายปี ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ เป็นแผนระดับชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงอย่างเป็นรูปธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของตน โดยในการขับเคลื่อนกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ให้บรรลุผลในระยะเวลา 5 ปี จะต้องมีกลไกนโยบาย ติดตาม ประเมินผลที่ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองนายกฯ ประจิน กล่าวต่ออีกว่า แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยมีกระบวนการจัดทำ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ซึ่งได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อกำหนดแนวทาง เป้าหมาย และกิจกรรมขับเคลื่อนของแผนปฏิบัติการ 2) การวิเคราะห์ระบบนิเวศรายยุทธศาสตร์ เพื่อระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ รวมทั้งจะมีการชี้เป้าหมายและกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3) การรวบรวมข้อมูลโครงการ กิจกรรมต่างๆ ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ โดยกระทรวงดีอี ได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอิสระดำเนินการรายงานข้อมูล แผนงานโครงการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ภายใต้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4) การกำหนด (ทอน) เป้าหมาย จากเป้าหมายระยะ 10 ปีตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สู่เป้าหมายระยะ 5 ปี ของแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ และ 5) การกำหนดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ส่งเข้ามาวิเคราะห์ช่องว่างของสิ่งที่ต้องดำเนินการ และบูรณาการกิจกรรมเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการลงทุนด้วยเงินงบประมาณ รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ โดยในระยะเวลา 5 ปี จะเน้นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ใน 2 ระยะ คือ ระยะ 1 ปี 6 เดือน จะเน้นการลงทุนสร้างรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ ระยะ 5 ปี จะเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามแนวทางประชารัฐในทุกภาคส่วน "สำหรับเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดไว้ 4 ประการ คือ ประการแรก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวทันเวทีโลก โดยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุด 25 อันดับแรก มีการพัฒนาด้านTechnological Infrastructure ให้ดีขึ้นเป็น 35 อันดับแรก และสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อ GDP เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 18.2 ประการที่สอง สร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม โดยตั้งเป้าไว้ว่าหมู่บ้านในประเทศไทย เข้าถึงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 ประการที่สาม มีการพัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัล โดยประชาชนทุกคนร้อยละ 50 มีความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ สัดส่วนการจ้างงานบุคลากรด้านดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 และ ประการที่สี่ มีการปฏิรูปภาครัฐ โดยตั้งเป้าไว้ว่ามีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐดีขึ้น 10 อันดับ และคะแนนการให้บริการออนไลน์ จากการจัดอันดับของ UN e-Government ranking ดีขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ซึ่งจากเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์และไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ" นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้รับทราบสถานะและความคืบหน้าเรื่องต่างๆ อาทิ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ที่แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนขององค์ประกอบคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งแจ้งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง) และแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการฯ จำนวน 8 ราย การรายงานความก้าวหน้าของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 8 ฉบับ การดำเนินงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่ง ครม. ได้มติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2559 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์และ/หรือรายวาระ (agenda-based) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว และสถานการณ์ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนา ทั้ง 2 ฉบับ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ของสำนักงาน กสทช. ผลการประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงฯ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการโครงการ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ในระหว่างการจัดทำข้อตกลง และกรอบการดำเนินงานโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อศึกษาวางแผน และกำหนดแนวทางการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ทั้งในส่วนของการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ด้านโครงการนำร่องการบูรณาการนำสายสื่อสารลงดินพื้นที่โครงการถนนพหลโยธิน ได้เชิญผู้แทนการไฟฟ้า นครหลวงเสนอแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ หรือ Data Center ประกอบด้วย ผลการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หน่วยงานภาครัฐระดับกรม ประจำปี 2559 ความสามารถในการให้บริการศูนย์ข้อมูลในภาคเอกชน สถานภาพมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ Data Center ในประเทศไทยสถานภาพข้อมูลสำคัญและข้อมูลทั่วไปที่ให้บริการประชาชน สถานะการพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐในประเทศไทย และแผนดำเนินการพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Data Center) อีกด้วย" รองนายกฯ ประจิน กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ