กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กรมการขนส่งทางบก
กรมการขนส่งทางบก เผย!!! ยอดร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะผ่านศูนย์ 1584 ประจำปีงบประมาณ 2559 (ต.ค. 58 – ก.ย. 59) รวมทุกช่องทางกว่า 58,000 ครั้ง ดำเนินการทุกเรื่องที่มีเบาะแสคิดเป็นที่แก้ไขเรื่องร้องเรียนได้รวมร้อยละ 90.08 ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนรถแท็กซี่ แนะประชาชนระบุหมายเลขทะเบียน ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ วันเวลาสถานที่ใช้บริการให้ละเอียด เพื่อการติดตามผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกเปิดให้ประชาชนร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการ รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 เพื่อที่จะได้นำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปแก้ปัญหาและกำหนดมาตรการเพื่อการยกระดับการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณ 2559 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 –เดือนกันยายน 2559) เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครมีประชาชนร้องเรียนผ่านทางสายด่วน โทร. 1584 สูงที่สุด รองลงมาผ่านทางแอพพลิเคชั่น DLT Check in, E-mail: dlt_1584complain@hotmail.com, Facebook "กตส กรมการขนส่งทางบก" และ Line : 1584dlt ตามลำดับ รวมทุกช่องทางการร้องเรียนพบว่าประชาชนร้องเรียนปัญหาการให้บริการรถโดยสารสาธารณะรวมทั้งสิ้น 58,662 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียนจนได้ข้อยุติแล้ว 52,845 เรื่อง คิดเป็น 90.08% และยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 5,817 เรื่อง คิดเป็น 9.92% ซึ่งจะเร่งติดตามตัวผู้ถูกร้องเรียนมาสอบสวนเพื่อแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชนโดยเร็ว สำหรับรถโดยสารสาธารณะที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้แก่ รถแท็กซี่ได้รับการร้องเรียน 43,254 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 40,154 เรื่อง คิดเป็น 92.83%) ประเด็นปัญหาส่วนใหญ่คือปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และเรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่มจากมาตรค่าโดยสาร ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้างมีการร้องเรียนจำนวน 1,322 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 1,228 เรื่อง คิดเป็น 92.89%) ส่วนใหญ่ ได้แก่ เรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่ม ขับประมาทหวาดเสียว และแสดงกิริยาไม่สุภาพ ในขณะที่รถตุ๊กตุ๊กได้รับการร้องเรียนจำนวน 166 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 151 เรื่อง คิดเป็น 90.96%) ประเด็นร้องเรียนสามอับดับแรก ได้แก่ แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จอดรถขวางทางจราจรและป้ายหยุดรถ และขับประมาทหวาดเสียว
ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พบว่า รถเมล์ ขสมก. ได้รับการร้องเรียกจากประชาชนสูงสุด 2,504 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 2,057 เรื่อง คิดเป็น 82.15%) ปัญหาสามอันดับแรกได้แก่ ไม่หยุดรับส่งผู้โดยสารที่ป้าย ขับประมาทหวาดเสียว แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ ส่วนรถเมล์ร่วมบริการ ขสมก. (ธรรมดา) 2,362 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 1,959 เรื่อง คิดเป็น 82.94%) และรถเมล์ร่วมบริการ ขสมก. (ปรับอากาศ) ได้รับการร้องเรียน 2,067 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 1,551 เรื่อง คิดเป็น 75.04%) โดยพบว่าการร้องเรียนของรถร่วมทั้งสองประเภทส่วนใหญ่คือขับเร็วประมาทหวาดเสียวและไม่หยุดรับส่งผู้โดยสารที่ป้าย ในขณะที่รถ บขส. และรถเอกชนร่วมบริการได้รับการร้องเรียนจำนวน 2,163 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 1,739 เรื่อง คิดเป็น 80.40%) ส่วนใหญ่ได้แก่ ขับประมาทหวาดเสียว ให้ผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมายปลายทาง แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ สำหรับรถตู้โดยสารได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวน 2,099 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 1,600 เรื่อง คิดเป็น 76.23%) ได้แก่ ขับประมาทหวาดเสียว เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด และบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกปัญหาการร้องเรียนของประชาชน กรมการขนส่งทางบกเร่งตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยทันที พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบโดยตรงทาง SMS ภายใน 1 - 2 วัน และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเป็นระยะจนกว่าจะแก้ไขเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ร้องเรียนระบุรายละเอียดรถและผู้ขับรถคันที่กระทำความผิด เช่น หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ วันเวลาสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งจะทำให้กระบวนการติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยกรมการขนส่งทางบกมีมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายขั้นสูงสุดทุกกรณี พร้อมส่งตัวเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการ และบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ สำหรับตรวจสอบการกระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป และสำหรับความผิดอาญาหรือทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างร้ายแรง เช่น การขู่กรรโชก ทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร กระทำอนาจาร ดัดแปลงมาตรค่าโดยสาร ส่งตัวดำเนินคดีและเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
ลิงค์ https://www.facebook.com/PR.DLT.NEWS/