กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยเข้มงวดการผลิต จำหน่าย และจุดพลุ ดอกไม้เพลิง โคมลอยให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตรวจสอบเส้นทางสัญจรทางน้ำและบริเวณริมน้ำให้มีความมั่นคงแข็งแรง รวมถึงจัดตั้งจุดตรวจคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง และเตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อสืบสานประเพณีลอยกระทงให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป และสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชนในทุกพื้นที่
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในหลายรูปแบบ ทั้งอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้เพลิง โคมลอย อุบัติภัยทางน้ำ อุบัติเหตุทางถนน และอัคคีภัย สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้บูรณาการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงตามแนวทางสำคัญ ดังนี้ 1.มาตรการป้องกันอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้เพลิง และโคมลอย โดยเข้มงวดกวดขันชนิด ขนาด จำนวน ระยะเวลาในการจุดพลุ ดอกไม้เพลิง และปล่อยโคมลอย รวมถึงตรวจสอบสถานที่จัดเก็บ ผลิต จำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง และโคมลอยให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2.มาตรการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางสัญจรทางน้ำ บริเวณริมน้ำ และจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย รวมถึงสนธิกำลังจัดชุดกู้ภัยทางน้ำ และจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งานประจำจุดเสี่ยง โดยเฉพาะสถานที่จัดงานลอยกระทง 3.มาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดตั้งจุดตรวจบริเวณเส้นทางสายต่างๆ โดยรอบสถานที่จัดงานลอยกระทง เพื่อจัดระเบียบการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน รวมถึงบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะขับรถเร็ว เมาแล้วขับ และสภาพรถ ไม่ปลอดภัย 4.มาตรการป้องกันอัคคีภัย โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว รถดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัยประจำสถานที่จัดงานลอยกระทง บริเวณที่มีการจุดพลุ ดอกไม้เพลิง และปล่อยโคมลอย เพื่อให้สามารถปฏิบัติการเผชิญเหตุและระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างทันท่วงที 5.มาตรการป้องกันอุบัติภัยอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดจุดในการปล่อยโคมลอย การยิงลำแสงเลเซอร์ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่มีความปลอดภัย อยู่ห่างจากบริเวณท่าอากาศยาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการบินและอันตรายต่ออากาศยาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับอากาศยานและบทลงโทษทางกฎหมาย อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุบัติภัย ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่จัดงานลอยกระทง และเตรียมพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ตลอดจนเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานที่จัดงานเทศกาลลอยกระทง เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ปภ.ได้เตรียมพร้อมรับมือและดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงให้สอดคล้องกับประเพณีของแต่ละท้องถิ่น พร้อมร่วมกันสืบสานประเพณีลอยกระทงให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป และสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชนในทุกพื้นที่